ผู้ว่าฯธปท.เปิด5โจทย์หิน แก้โควิดฉุดจีดีพีทรุดยาว
Loading

ผู้ว่าฯธปท.เปิด5โจทย์หิน แก้โควิดฉุดจีดีพีทรุดยาว

วันที่ : 21 ตุลาคม 2563
ผู้ว่าธปท.ลุยวิกฤตหนี้ ตั้ง 5โจทย์ใหญ่ ฟื้นศก.
          ผู้ว่าแบงก์ชาติเปิด 5 โจทย์หินแก้เศรษฐกิจ ชูวาระ ด่วนเร่งสางวิกฤติหนี้ยั่งยืน รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รับโควิดทุบจีดีพีทรุดยาว คาดฟื้นตัว กลับมาปกติไตรมาส 3 ปี 2565 ปรับยุทธศาสตร์ดูแล หยุดใช้มาตรการปูพรม แต่หันมาเน้นช่วยตรงจุดมากขึ้น ห่วงการเมืองป่วนลากยาวกระทบเชื่อมั่น

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการหลังรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 ขณะที่ประเทศไทยปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติม

          ผู้ว่าการธปท. ยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19เป็นวิกฤติที่ลุกลามทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลให้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้ช็อกครั้งนี้มีผลต่อเศรษฐกิจรุนแรงมาก ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของธปท. หลังจากนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับ 5 โจทย์ใหญ่ เพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

          ประการแรก แก้วิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนรายย่อย เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ซึ่งต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่องสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น และคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาทั้งในภาพรวมและแต่ละเซกเตอร์เป็นรายลูกหนี้ด้วย

          รายงานล่าสุดของ ธปท.พบว่า หลังใช้ มาตรการพักหนี้ปรากฏว่า มีลูกหนี้ เข้าโครงการกว่า 6.9 ล้านล้านบาท หรือ ราว 11.1 ล้านบัญชี โดยมาตรการพักหนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ขณะที่หนี้ครัวเรือนสิ้นสุดไตรมาส2/2563 ขยับขึ้นเป็น 83.8% ต่อจีดีพี จากไตรมาสแรกที่อยู่ที่ 80.1% ต่อจีดีพี

          รักษาเสถียรภาพการเงิน

          ประการที่ 2 รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ให้เข้มแข็ง มีเงินกองทุนและสำรองที่แข็งแรงเพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบสถาบันการเงินทำหน้าที่ได้ และเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ประการที่ 3 รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ให้มั่นใจว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน และรองรับการเข้าสู่วิถีโลกใหม่ หรือ New Normal ได้

          "3 โจทย์ใหญ่ทั้งแก้วิกฤติหนี้ ดูแลเสถียรภาพการเงิน และ เศรษฐกิจมหภาค เป็นภารกิจที่แบงก์ชาติต้องขับเคลื่อนปกติอยู่แล้ว แต่ต้องมีความเข้มข้นในการแก้ปัญหามากขึ้น"

          พร้อมปรับตัวรับยุคใหม่

          นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เรื่องที่ ธปท.ต้องทำเพิ่มเติม ประการต่อมา คือ  การสร้าง ความเชื่อมั่นของสาธารณชนให้ธปท. เป็นองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด เนื่องจากความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นหน้าที่ของธปท.จะต้องดูภาพรวมและการสื่อสารให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้น และต้องทำให้เข้มแข็งมากขึ้น ต้องคิดรอบ ตอบได้ สื่อสารออกมาให้ชัดเจน

          ประการสุดท้าย คือการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ธปท.เป็นองค์กรที่มุ่งสัมฤทธิ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ธปท.เป็นองค์กรที่มีคนเก่งและทุ่มเท จึงออกมาเป็นผลงาน แต่ก็มีระดับชั้นของการทำงานเยอะมาก ดังนั้นธปท.ต้องปลดล็อกด้านดังกล่าว เพื่อให้การแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆเป็นไปตามแผนที่ธปท.วางไว้

          "เราต้องปรับตัว จัดองคาพยพใหม่ หลังรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. เรามีการปรับแผนงานให้สอดคล้องกับบริบทที่เจอ เพราะเป็นงานที่กว้างมาก และทำงานสารพัดเรื่อง ซึ่งมีแผน 3 ปีที่จะต้องทำในหลายด้าน"

          โควิดทุบจีดีพีทรุดยาว

          นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจ จากผลกระทบโควิด-19 ยอมรับว่ามีผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดเหลือ 7 ล้านคน จาก 40 ล้านคน ทำให้รายได้ จากภาคการท่องเที่ยวหายไป 1.6 ล้านล้านบาท  หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพี ขณะที่ภาคส่งออก ติดลบหนักในรอบ 11 ปี ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจไทยขณะนี้จึงเปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัว อยู่ในห้องไอซียู

          หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หรือเมื่อผู้ป่วยออกมาพักฟื้นจากไอซียูแล้ว บริบทประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน ด้านแรก การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะแตกต่างกันมาก ฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน (Uneven) ทั้งด้านเศรษฐกิจ พื้นที่ และขนาดของธุรกิจ หนักที่สุดธุรกิจโรงแรม ที่วันนี้กลับมาได้เพียง 25 % หากเทียบกับก่อนโควิด-19

          ด้านที่ 2 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลายาวนาน ไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจากประมาณการเศรษฐกิจของธปท.ปีนี้คาดว่า จีดีพีจะติดลบอยู่ที่ 7.8% โดยหลังจากนี้จะเห็นเศรษฐกิจติดลบทุกไตรมาสในปีนี้ ยาวไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในไตรมาส 2/2564 แต่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ก่อนจะกลับไปขยายตัวในระดับเดียวกันกับก่อนเกิด โควิด-19 ในไตรมาส 3 ปี 2565

          ด้านสุดท้ายความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงมากว่าโควิด-19 รอบสองจะมีหรือไม่ วัคซีน หรือนักท่องเที่ยวกลับมาเมื่อไหร่ เหล่านี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัย

          เน้นช่วยตรงจุด-ครบวงจร

          นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เมื่อบริบทเปลี่ยน ธปท. จึงประเมินว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาต้องปรับจากการใช้มาตรการที่ปูพรมการให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน มาเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด (targeted) ครบวงจร (comprehensive) และยืดหยุ่น (flexible) โดยพิจารณาถึงผลข้างเคียง เพราะมีทรัพยากรจำกัด จึงต้องใช้ให้ถูกจุดเพื่อช่วยคนที่จำเป็นให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

          "ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การพักชำระหนี้ จากการปูพรมช่วยช่วงล็อกดาวน์ที่ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ พนักงานต้องหันมาทำงานจากที่บ้าน หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้ขาดรายได้ มาเป็นการ ส่งเสริมให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมตามความสามารถของ ลูกหนี้ ซึ่งเป็นการช่วยแบบตรงจุดกว่า เช่นเดียวกับหมอที่รักษาคนไข้ตามความหนักเบาของอาการที่ป่วย"

          สำหรับระยะต่อไป  โจทย์จะไม่ใช่แค่ซอฟท์โลน ไม่ใช่แค่การแช่แข็ง และการให้สินเชื่อ แต่จะทำอย่างไรให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็ว ที่ต้องสปีด ต้องเร็ว และท้ายที่สุดวิธีการจัดการเอ็นพีแอล โดยใช้กลไกต่างๆในการจัดการ รวมถึงการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ต้องมีเครื่องมือที่ครบ และหลากหลาย เพราะการฟื้นตัวครั้งนี้ยาว และมีความไม่แน่นอนสูง

          อีกทั้งการทำนโยบายต่างๆต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงและผลระยะยาวด้วย ไม่ให้ปัญหาระยะสั้นบั่นทอนการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะยาว เช่นพักหนี้ หากพักไปนานๆ อาจทำให้เกิดการจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดปัญหา เป็นวงกว้าง ซึ่งกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน การแก้ปัญหาต้องคำนึงถึงภาพ รวม ทั้งสถาบันการเงิน ผู้กู้ ผู้ฝากเงิน

          หวังคลังพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ

          สำหรับค่าเงินบาท ผู้ว่าธปท.กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ สถิติ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ค่าเงินบาทขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินหลัก และการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ในภูมิภาคถึง 85% ขณะที่ 15% มาจากปัจจัยในประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการค่าเงินบาทมีจำกัด อีกด้านที่ทำให้บาทแข็งค่า คือการเกิดดุลบัญชีเดินสะพัด ดังนั้นต้องหาวิธีรีไซเคิลเงินให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

          ส่วนการดำเนินนโยบายการเงิน ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค และต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ช่องว่างหรือความสามารถในด้านดอกเบี้ยมีจำกัด ฉะนั้นมาตรตการด้านการคลังคงต้องเป็นพระเอก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินเปรียบเสมือนกองหลัง โดยโจทย์ของธปท. คือทำอย่างไรให้การดำเนินนโยบายการเงิน ด้านดอกเบี้ย สภาพคล่อง สภาวะตลาดเงินไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

          "นโยบายการเงินไม่ใช่กองหน้า แต่โดยธรรมชาติการเป็นกองหลังสำคัญมาก แต่หากมีข้อจำกัด หากกองหลังไม่แข็ง เตะอย่างไรก็แพ้ ดังนั้นก็ต้องใช้มั่นใจว่า เสถียรภาพเราดี"

          สำหรับสถานการณ์ทางการเมือง เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงติดตามว่าปัญหาดังกล่าวลากยาวหรือไม่ แต่เบื้องต้นเชื่อว่าปัจจัยทางการเมือง กระทบต่อความมั่น การลงทุน การบริโภค และการท่องเที่ยวว่าจะกลับมาเมื่อใด ซึ่งสิ่งที่ธปท.กังวลคือ กระทบต่อความสามารถการจัดการในด้านต่างๆ
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ