หนี้เสียลามบ้านราคา5-7ล. แบงก์ปฏิเสธปล่อยกู้พุ่ง50%
Loading

หนี้เสียลามบ้านราคา5-7ล. แบงก์ปฏิเสธปล่อยกู้พุ่ง50%

วันที่ : 14 กันยายน 2567
เลขาธิการสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ระบุว่า หากดูในส่วนของรายได้จะพบว่า กลุ่มที่มีสัญญาณผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น จะขยับจากรายได้ ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน ไปสู่รายได้ ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อเดือน รวมถึงกลุ่มรายได้ 5-7 หมื่นบาทต่อเดือน ถือว่าเป็นกลุ่มที่สถาบันการเงินเริ่มมีการเฝ้าระมัดระวังมากขึ้น
         สินเชื่อบ้านอ่วมหนักหดตัว 15-20% ลูกค้าระดับกลาง-บนอ่อนแอลง ผลจากเศรษฐกิจฟื้นช้า ส่งผลยอดปฏิเสธสินเชื่อ-หนี้เสีย ลามกลุ่มบ้าน ราคา 5-7 ล้านบาท แบงก์ยอมรับเฝ้าระวังกลุ่มลูกค้ารายได้ 5-7 หมื่นบาท ชี้มีสัญญาณผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม "กรุงไทย" ระบุหนี้เสียส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มบ้านหลังที่ 2 และ 3 "ทีทีบี" ยอมรับตัวเลขผิดนัดชำระหนี้-รีเจ็กต์สินเชื่อเพิ่มขึ้นตามศักยภาพลูกค้าที่อ่อนแอ

         "หนี้เสีย" ลามบ้านราคา 5-7 ล้าน.

         นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหาร สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (เอ็นพีแอล) และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM-ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน) ของ สินเชื่อที่อยู่อาศัย จะเห็นว่าไหลเพิ่มขึ้นค่อน ข้างเร็ว ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวัง ในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลต่ออัตรา การปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) เพิ่มขึ้น รวมถึงการยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจ ที่ฟ้นตัวไม่เต็มที่ และแรงกดดันรายได้ที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งปี 2567 คาดว่า จะไม่เติบโตหรือหดตัวติดลบได้

         ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ากลุ่มที่น่าเป็นห่วงและสถาบันการเงินให้ความระมัดระวัง จะเป็นกลุ่มราคาบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท เพราะเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้ ค่อนข้างสูง ทำให้ยอดการปฏิเสธสูงถึง 70%

         แต่ปัจจุบันกลุ่มราคาบ้าน 5-7 ล้านบาท เริ่มส่งสัญญาณได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่เป็น ผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบ จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้มี กระแสเงินสดหรือรายได้ไม่พอในการผ่อนชำระหนี้มากขึ้น

         เฝ้าระวังรายได้ 5-7 หมื่นบาท

         นายอลงกตกล่าวอีกว่า หากดูในส่วนของรายได้จะพบว่า กลุ่มที่มีสัญญาณผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น จะขยับจากรายได้ ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน ไปสู่รายได้ ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อเดือน รวมถึงกลุ่มรายได้ 5-7 หมื่นบาทต่อเดือน ถือว่าเป็นกลุ่มที่สถาบันการเงินเริ่มมีการเฝ้าระมัดระวังมากขึ้น

         ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อสถาบันการเงินจึงมุ่งไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพผ่านการร่วมมือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) เป็นรายโครงการมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตสินเชื่อ

         "แบงก์เองคงไม่ได้ปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ แต่ด่านแรกในการอนุมัติสินเชื่อ (Approve) ค่อนยาก เพราะวันนี้เราเห็นสัญญาณกระทบทั้ง กลุ่มราคาบ้านระดับล่าง-กลาง ที่เป็น กลุ่มพนักงานเงินเดือนที่มีภาระหนี้สูง เริ่มลามไประดับเจ้าของธุรกิจได้รับผล กระทบจากเศรษฐกิจฟ้นตัวช้า ดังนั้น ภาพเลยออกมาว่ายอดรีเจ็กต์สูงขึ้น และ หนี้เสียในกลุ่มบ้าน 5-7 ล้านบาท เริ่มส่ง สัญญาณมากขึ้น ทำให้ยอดโอนบ้านและ สินเชื่อปล่อยใหม่มีแนวโน้มลดลง"

         บ้านหลังที่ 2-3 เกิดหนี้เสียมาก

         นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพเอ็นพีแอล สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบจะพบว่า ตัวเลขหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ จะอยู่ในส่วนของกลุ่มลูกค้าบ้านหลังที่ 2 และหลังที่ 3 มากกว่าคนที่มีบ้านหลังเดียว ดังนั้น ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารจะพิจารณาว่าลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นบ้านหลังที่เท่าไร และ ดูความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงความสามารถจากแหล่งรายได้อื่น ๆ ที่จะนำมาชำระหนี้เพียงพอหรือไม่


         นายผยงระบุว่า การอนุมัติสินเชื่อหรือการปฏิเสธสินเชื่อไม่ได้มาจากธนาคารเพิ่มความเข้มงวดหรือเพิ่มเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถของลูกค้าเป็นหลัก

         "ไม่ใช่อยู่ ๆ ธนาคารจะเข้มงวด แต่ธนาคารยึดหลักที่ว่าลูกค้ามีกำลังหรือเปล่า เพราะถ้าปล่อยกู้ไป โดยที่เขาไม่มี กำลังก็เป็นเหมือนไปสร้างปัญหาให้ลูกค้า อีก และเป็นการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่รับผิดชอบ"

         สำหรับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ของธนาคารกรุงไทย สอดคล้องกับ ทิศทางของทั้งระบบที่เห็นการชะลอตัวลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟ้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งยอมรับว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัว ลงกระทบกับการเติบโตสินเชื่อภาพ รวมของธนาคาร แต่เชื่อว่าไม่ได้ แตกต่างไปจากระบบมากนักโดยสินเชื่อ ที่ยังมีการเติบโตจะเป็นสินเชื่อภาคเอกชน และภาครัฐ ที่ยังเป็นตัวหลัก

         ผวาปี'67 สินเชื่อบ้านหดตัว 20%

         แหล่งข่าวสถาบันการเงินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คงไม่ได้แตกต่างจากครึ่งปีแรก ของปี 2567 คาดทั้งปีสินเชื่อที่อยู่อาศัย น่าจะหดตัว 15-20% ด้วยความท้าทาย จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟ้นตัวช้า คนมี รายได้ลดลง เช่น จากเดิมมีรายได้ 3-5 หมื่นบาท มีค่าทำงานล่วงเวลา แต่ ปัจจุบันเงินเดือนลดลง ไม่มีค่าโอที ซึ่งสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อระยะยาว ทำให้ คนไม่กล้าตัดสินใจซื้อ รวมถึงรายได้ลูกค้าอาจจะไม่ผ่านเกณฑ์

         แม้ว่าธนาคารจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ แต่เนื่องจากลูกค้ามีภาระหนี้ต่อรายได้มากขึ้นจากหลุมรายได้ที่หายไป ส่งผลให้ยอดสินเชื่อ ปรับลดลง ทั้งจากความต้องการที่ลดลงและความอ่อนแอของผู้กู้เอง

         บ้าน 3-7 ล้านบาทปฏิเสธกู้ 50%

         แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณลูกค้ารายได้ 3-5 หมื่นบาท ต่อเดือน และกลุ่มราคาบ้าน 3-7 ล้านบาท เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเห็นการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น และยอดปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) สูงขึ้น จากเดิมอยู่ในระดับ 25% เพิ่มเป็น 50%

         "แม้ว่าธนาคารมีเกณฑ์อนุมัติเท่าเดิม แต่ความอ่อนแอมาจากลูกค้าเอง ทำให้ไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อ เราก็หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และทยอยเป็นบวกได้ในปี 2568 หากเศรษฐกิจ ฟ้นตัวเป็นรูปธรรมมากขึ้น"

         ทีทีบี มุ่งเจาะกลุ่มรีไฟแนนซ์
 
         ด้าน นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำหรับภาพการผิดนัดชำระหนี้ยอมรับว่าสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่นเดียวกับยอดการปฏิเสธ สินเชื่อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย

         สำหรับกลยุทธ์รองรับสถานการณ์ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลัง ธนาคารเน้นกลุ่มสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและลูกค้ามีวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อเพื่อลดภาระดอกเบี้ย รวมถึงนำเสนอโปรแกรมรวมหนี้ (Debt Consolidation) พร้อมกับสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ ซึ่งจะสามารถช่วยลูกค้าประหยัดดอกเบี้ยและลดภาระผ่อนต่อเดือน หรือเพิ่มสภาพคล่องได้ ส่วนกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อย (กลุ่มเปราะบาง)

         "กลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้พบว่า มีการปรับตัวขึ้นตามตลาด แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขของทั้งระบบ ttb ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก เป็นผลจากที่ธนาคารมีการเสนอโปรมแกรมช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับปัญหาของแต่ละลูกหนี้แบบเชิงรุก และหากมองไประยะข้างหน้า ธนาคารยังดำเนินนโยบายด้านสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และดูแลกลุ่มลูกค้ารายเดิม"

         ธปท.รับสัญญาณด้อยคุณภาพ

         ขณะที่ นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสที่ 2/2567 ว่า ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นในกลุ่มรายได้มากกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน จากเดิมจะเป็นกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท รวมถึงสัญญาณของการด้อยคุณภาพที่เริ่มกระจายจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยไปยังกลุ่มรายได้ที่สูงขึ้น

         โดยตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อที่อยู่อาศัย ณ ไตรมาสที่ 2/2567 อยู่ที่ 3.71% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2567 ที่ระดับ 3.48% ขณะที่สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) ไตรมาสที่ 2/2567 อยู่ที่ 5.27% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 5.14%
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ