คิกออฟงบประมาณปี63คมนาคมฉีดด่วน3.7หมื่นล.
Loading

คิกออฟงบประมาณปี63คมนาคมฉีดด่วน3.7หมื่นล.

วันที่ : 27 กุมภาพันธ์ 2563
โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 "รมว.คมนาคม" เร่งสปีดเบิกจ่าย 3.7 หมื่นล้านบาท เร่งทุกหน่วยงาน ลงทุน 1.7 แสนล้านบาท ทั้งสิ้น 86 โครงการ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ 12% ด้านนักวิเคราะห์ แนะรอลงทุน CPF, TU, STEC, และ TEAMG
          โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 "รมว.คมนาคม" เร่งสปีดเบิกจ่าย 3.7 หมื่นล้านบาท เร่งทุกหน่วยงาน ลงทุน 1.7 แสนล้านบาท  ทั้งสิ้น 86 โครงการ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ 12% ด้านนักวิเคราะห์ แนะรอลงทุน CPF, TU, STEC, และ TEAMG

          เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเงินงบประมาณจำนวน 3.2 ล้านล้านบาท

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุ ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่ออัดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนโดยเร็ว เบื้องต้นในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินได้ทันทีประมาณ 10% จากงบประจำทั้งสิ้น 37,791.64 ล้านบาท

          ในส่วนของกระทรวงคมนาคมมีวงเงินงบประมาณ ประจำปี 2563 รวมทั้งสิ้น 208,315.24 ล้านบาท ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท สำหรับ 86 โครงการ แบ่งเป็น กรมทางหลวง (ทล.) 6 โครงการวงเงินรวม 124,506 ล้านบาท, กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 3 โครงการวงเงินรวม 653.52 ล้านบาท, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มี 2 โครงการวงเงินรวม 3,124.42 ล้านบาท, การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มี 2 โครงการวงเงิน 14,235.61 ล้านบาท ที่พร้อมดำเนินการ และยังมีอีก 3 โครงการวงเงินรวม 459,804.66 ล้านบาทที่อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการ

          การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ระยะทาง 13.4 กม. วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ครม.อนุมัติแล้ว เตรียมประกวดราคา ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนมิถุนายน 2563 นี้

          กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงินรวม 525 ล้านบาท, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มีโครงการก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 วงเงิน 21,795.941 ล้านบาท, ส่วนโครงการในพื้นที่ EEC เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 นั้นทางสคร.คาดว่าจะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศ (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือ TFFIF2) มาใช้ในโครงการนี้

          "ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะกดดันทั้งภายในประเทศ-ภายนอกประเทศ ซึ่งแน่นอนการท่องเที่ยว รายได้หลักของประเทศไทยคงชะลอตัวลง รัฐบาลต้องเร่งปูพรม เปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้าง กระทรวงคมนาคมพร้อมเร่งรัดเดินหน้าโครงการในทันที เพื่อให้ทันกับเวลาดำเนินงานที่เหลืออีกเพียง 7 เดือน ก่อนที่จะสิ้นปีงบประมาณ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโครงการลงทุนสำคัญด้านคมนาคมขนส่ง มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 12%"

          คาดพยุงดัชนี

          นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุ งบประมาณรายจ่าย 2563 เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ตลาดคาดการณ์ แต่เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนยังคงให้น้ำหนักต่อการแพร่กระจายของภาวะโรคระบาดอย่างมีนัยสำคัญ จึงคาดว่าจะช่วยพยุงดัชนีไม่ให้ปรับตัวลงมากกว่าระดับจิตวิทยา

          ทั้งนี้คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะเร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจทุกด้านควบคู่กันทั้งเร่งลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่กับการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการกระตุ้นด้านต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่อย่าง STEC ส่วนหุ้นกลุ่มค้าปลีก แนะนำให้เริ่มเข้าสะสมหลังดีลซื้อเทสโก้ โลตัสมีความชัดเจน

          "ตั้งแต่ต้นปีดัชนีตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงประมาณ 6% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงถึง 9% จึงคาดว่าเมื่อรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ จะเร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบทุกทางทั้งการลงทุน และมาตรการอัดฉีดต่างๆ"

          นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุ การที่รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะกลาง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/2563 ซึ่งจะมีแรงคาดหวังว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ ดังนั้นระยะสั้นนักลงทุนควรถือเงินสดส่วนหนึ่งเพื่อรอเข้าลงทุนเมื่อดัชนีถึงจุดพักฐานและพร้อมฟื้นตัว โดยยังคงแนะนำหุ้นที่มีปัจจัยเฉพาะ อาทิ CPF, TU ซึ่งได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง, STEC, TEAMG ซึ่งจะได้อานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญ
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ