รายงานพิเศษ: นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ สร้างความเชื่อมั่นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
Loading

รายงานพิเศษ: นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ สร้างความเชื่อมั่นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

วันที่ : 27 กุมภาพันธ์ 2563
นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์"
          ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ในงานสัมมนาเรื่อง อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2020 โดยนายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์และประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุชัดเจนว่าสถานการณ์ในปี 2563 ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่ยังมีอยู่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น อุปทานที่อยู่อาศัยจะถูกดูดซับไปจนมีความสมดุลมาก ขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในการวางแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์

          นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) และประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 แต่เศรษฐกิจไทยยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากการปรับมุมมองของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่างๆ สิ่งเหล่านี้นับเป็นจุดแข็งสำหรับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งในปี 2563 รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้เป็น "ปีแห่งการลงทุน"

          นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนของภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจโดยกรอบการลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้งปีสูงถึง 3.46 แสนล้านบาท และยังได้ส่งเสริมให้เกิดโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น

          ในฟากของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือ ประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รัฐบาลได้แบ่งกลุ่มผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามฐานะและศักยภาพที่จะเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและไม่มีศักยภาพ 2.กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีศักยภาพ 3.กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง และ 4.กลุ่มผู้มีรายได้สูง โดยรัฐบาลได้วางแนวทางการช่วยเหลือที่แตก ต่างกัน รวมทั้งยังมีความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมให้คนไทยมีบ้าน ภายใต้โครงการ "บ้านดีมีดาวน์" เพื่อเป็นการลดภาระและสนับ สนุนให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและอยู่ในระบบฐานภาษีของกรมสรรพากรมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ภายใต้โครงการบ้านดีมีดาวน์ ภาครัฐจะสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) จำนวน 50,000 บาทต่อราย

          ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของ กรมสรรพากรในปี 2561 และมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี โดยกำหนดกรอบไว้จำนวน 100,000 คน ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านดีมีดาวน์แล้วจำนวน 99,496 ราย

          ผลจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในปี 2562 ส่งผลให้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศในไตรมาส 3 และ 4 ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 2562 เกิดการขยายตัวของจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศถึง 2.7% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศมีการขยายตัวถึง 4.3% จากเดิมที่ทุกฝ่ายคาดกันว่าจะติดลบค่อนข้างมาก

          สำหรับทิศทางของอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันภาพรวม ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจมีการชะลอตัวลงบ้างในปี 2563 แต่ไม่ได้ถึง ขั้นต้องน่ากังวล โดยยังมีปัจจัยทางตรงและปัจจัยทางอ้อมที่ช่วยกระตุ้นให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งปัจจัยทางตรง ได้แก่ นโย บายและมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นและปัจจัยทางอ้อม เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะส่งผลให้ประชาชนสามารถยื่นกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง

          นอกจากนี้ การพัฒนาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสำคัญต่างๆ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และความต้องการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดตามแนวโครงข่ายรถไฟฟ้า นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคทั้งด้านการค้าและการลงทุนจะช่วยกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัยของลูกค้าต่างชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ด้วย

          "สถานการณ์ในปี 2563 ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่มีอยู่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และอุปทานที่อยู่อาศัยจะค่อยๆ ถูกดูดซับไปจนมีความสมดุลมาก ขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และร่วมมือกันอย่างจริงจังในการวางแนวทางขับเคลื่อน ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยให้เกิดความมั่นใจว่า เขาได้รับการดูแลที่ดีที่สุดจากภาครัฐ เขาได้รับบ้านที่ดีที่สุดทั้งคุณภาพและราคาจากผู้ประกอบการ และเขาได้รับเงื่อนไขและบริการสินเชื่อที่ดีที่สุดจากสถาบันการเงินทั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์" นายปริญญากล่าว

          อย่างไรก็ตาม "ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์" และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะทำหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์และทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้กับผู้ประกอบการหน่วยงานต่างๆ ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริงจากสถิติและข้อมูลของศูนย์ข้อมูลฯ  ซึ่งรัฐบาลจะได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบการพิจารณาในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และผู้ประกอบการก็สามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ในการวางแผนทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิผลที่ดี

          "ธอส.เป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและกระตุ้นธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และช่วยให้คนไทยได้มีบ้านเป็นของตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงการคลัง และยังเป็นพันธกิจของธนาคารในการ "ทำให้คนไทยมีบ้าน" ด้วยการเป็น "ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน" อีกด้วย" นายปริญญาระบุ.