ค่าโอน-จดจำนอง 0.01% พลิกฟื้นอสังหาฯ ปี 63 โต 5%
Loading

ค่าโอน-จดจำนอง 0.01% พลิกฟื้นอสังหาฯ ปี 63 โต 5%

วันที่ : 2 ธันวาคม 2562
มาตรการ ลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและคอนโดจาก 2% เหลือ 0.01% พลิกฟื้นอสังหาฯ ปี 63 โต 5%
          มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและคอนโดจาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนองสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 1%  เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยที่มีระดับราคายูนิตละไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที 2 พ.ย. 2562 ไปจนถึงวันที่ 24 ธ.ค. 2563 มีส่วนช่วยพลิกฟื้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 ได้หลังจากซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561

          เมื่อย้อนไปดูตัวเลขสถิติการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปี 2559 ที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ยอดการโอน่กรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเติบโตถึง 27.7% 20.5% และ 21.9% ติดต่อกันใน 3 ไตรมาสดังกล่าวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น โดยยอดโอนในไตรมาส 4 ปี 2558  เพียงไตรมาสเดียวพุ่งสูงถึง 63,869 ยูนิต ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ยอดโอนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 4.53 หมื่นยูนิต/ไตรมาส สะท้อนว่าการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองส่งผลบวกต่อตลาดและความมั่นใจของผู้ซื้อบ้าน

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ คาดว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ  และปริมณฑลในปี 2563 น่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปลายปี 2562 แต่จะไม่มากนัก โดยจะขยายตัวไม่เกิน 5% ที่ประมาณ 205,700 ยูนิต ซึ่งแม้เป็นตัวเลขการเติบโตที่ไม่สูง แต่นับว่าการมีมาตรการย่อมเป็นผลดีต่อตลาดเมื่อเทียบกับไม่มีมาตรการโดยก่อนหน้าที่จะมีมาตรการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้คาดการณ์ว่ายอดการโอนกรรมสิทธิ์น่าจะหดตัวลงประมาณ 14%

          ทั้งนี้ การขยายตัวโดดเด่นของยอดการโอนกรรมสิทธิ์จะเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรหรือแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยวทาวน์เฮาส์ และบ้านแฝด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 8-14% ขณะที่คอนโดน่าจะหดตัว 3-8% เนื่องจากผู้ซื้อบ้านแนวราบเป็นผู้ซื้ออยู่จริง ส่วนคอนโดมีทั้งการซื้ออยู่จริงและซื้อเพื่อการลงทุน ซึ่งกลุ่มผู้ซื้อนักลงทุนน่าจะยังชะลอตัวต่อนอกจากนี้ หลังจากมีมาตรการช่วยเร่งการตัดสินใจของผู้ซื้อบ้าน คาดว่าผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยจะหันมามุ่งเน้นพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น เพราะการพัฒนาโครงการแนวราบเพื่อสร้างเสร็จและส่งมอบให้ผู้ซื้อใช้เวลาสั้นกว่าการพัฒนาคอนโดซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

          "บริษัทอสังหาฯ ส่วนใหญ่ปรับตัวเร็วต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยในไตรมาส 3 ปี 2562 มีการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เพียง 20,863 ยูนิตเท่านั้นลดลงต่อเนื่องมา 4 ไตรมาส จากไตรมาส 3 ปี 2561 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังที่ 2.94 หมื่นยูนิต/ไตรมาส หลังจากพบว่าภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และตลาดได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้มาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ที่เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา "ดร.วิชัย กล่าว

          สำหรับภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2563 ดร.วิชัยกล่าวว่า โครงการที่อยู่อาศัยใหม่จะมีการเปิดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี  2562 เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ โดยคาดว่าจะมีจำนวนการเปิดตัวเพิ่มขึ้น 1.4-11.5% หรือประมาณ 1.13-1.25 แสนยูนิต  จากประมาณ 1.12 แสนยูนิต  ในปี 2562 โดยโครงการบ้านจัดสรรยังคงขยายตัวต่อ  คาดว่าจะมีการเปิดตัวใหม่จำนวน 4.8-5.4 หมื่นยูนิต จาก 4.6 หมื่นยูนิต ในปี 2562 หรือขยายตัว 5.9-16.5% ส่วนการเปิดตัวคอนโดใหม่คาดว่าอาจจะหดตัวลงเหลือ 6.5 หมื่นยูนิต หรือเพิ่มขึ้นเป็น 7.1 หมื่นยูนิต จาก 6.6 หมื่นยูนิต ในปี 2562

          ดร.วิชัย กล่าวเสริมว่า  มาตรการกระตุ้นอสังหาฯมีส่วนช่วยระบายสินค้าคงเหลือในตลาดที่มีปริมาณไม่น้อย โดยคาดว่าซัพพลายคงเหลือในกรุงเทพฯ และปริมณฑลน่าจะลดลงต่อเนื่องเหลือประมาณ 139,400 ยูนิต ในสิ้นปี 2563 จาก 146,200 ยูนิต ในกลางปี  2563 และ 149,300 ยูนิต ในสิ้นปี 2562 โดยจำนวนบ้านจัดสรรจะปรับตัวลดลงมามากกว่าคอนโด หรือเฉลี่ยประมาณ 6.1% ขณะที่คอนโดจะลดลงเฉลี่ย 3.8%

          "ในปี 2563 ผู้ประกอบการยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารสินค้าเหลือขายเพื่อให้ซัพพลายไม่คงค้างมากจนเกินไป  คาดว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและอยู่ในช่วงขาลง และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่งผลให้ซัพพลายในตลาดจะถูกทยอยดูดซับออกไป"  ดร.วิชัย กล่าว

          'หลังจากรัฐบาลประกาศใช้มาตรการกระตุ้น อสังหาฯ คาดว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2563 น่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง   จากปลายปี 2562 แต่จะไม่มากนัก โดยจะขยายตัวไม่เกิน 5% ที่ประมาณ 205,700 ยูนิต ซึ่งแม้เป็นตัวเลขการเติบโตที่ไม่สูง แต่นับว่าการมีมาตรการย่อมเป็นผลดีต่อตลาด'

          'ยอดโอนในไตรมาส 4 ปี 2558 เพียงไตรมาสเดียวพุ่งสูงถึง 63,869 ยูนิต  ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ยอดโอนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 45,300 ยูนิต/ไตรมาส สะท้อนว่าการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองส่งผลบวกต่อตลาดและความมั่นใจของผู้ซื้อบ้าน'
 

สมัครเป็นสมาชิกเว็บ REIC
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
รู้ข้อมูลอสังหาฯ ก่อนใคร
สมัครได้ฟรี ไม่มีเงื่อนไข
เพื่อให้การซื้อ-ลงทุนที่อยู่อาศัย
เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด
.
.
สมัครเลยที่
https://www.reic.or.th/Member/RegisterGeneral
.
.
------------------------
ติดตามศูนย์ข้อมูลฯ เพิ่มเติมได้ที่
 Website : www.reic.or.th
 Twitter : www.twitter.com/REICFan
 Youtube : www.youtube.com/user/REICPR
 Line : @REICFan
#ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ #REIC