สายสีแดงบูม3เมืองใหม่
Loading

สายสีแดงบูม3เมืองใหม่

วันที่ : 4 พฤศจิกายน 2562
สายสีแดงบูมเมืองใหม่เชื่อม "ศาลายา-ทุ่งสองห้อง-รังสิต" การรถไฟฯเร่งหา เอกชนรับสัมปทานพื้นที่สถานีบางซื่อ 2.6 แสน ตร.ม. ใหญ่สุดในอาเซียน หวังพัฒนารีเทล ศูนย์อาหารพ่วง 10 สถานี ประมูลอีก 32 ไร่ 1.1 หมื่นล้าน จับตายักษ์ค้าปลีกรุมชิงเค้ก ไอทีสแควร์สร้างสกายวอล์กถึงสถานีหลักสี่ "ธรรมศาสตร์" ปัดฝุ่นที่ดิน สร้างเมืองใหม่ ผุดฟีดเดอร์เชื่อมสถานี "มหิดล" เล็งพัฒนาเชิงพาณิชย์ "ศิริราช" ลงทุน 2 พันล้านเปิดศูนย์แพทย์รับ
        บางซื่อพลิกโฉมค้าปลีกอาเซียน
        สายสีแดงบูมเมืองใหม่เชื่อม "ศาลายา-ทุ่งสองห้อง-รังสิต" การรถไฟฯเร่งหา เอกชนรับสัมปทานพื้นที่สถานีบางซื่อ 2.6 แสน ตร.ม. ใหญ่สุดในอาเซียน หวังพัฒนารีเทล ศูนย์อาหารพ่วง 10 สถานี ประมูลอีก 32 ไร่ 1.1 หมื่นล้าน จับตายักษ์ค้าปลีกรุมชิงเค้ก ไอทีสแควร์สร้างสกายวอล์กถึงสถานีหลักสี่ "ธรรมศาสตร์" ปัดฝุ่นที่ดิน สร้างเมืองใหม่ ผุดฟีดเดอร์เชื่อมสถานี "มหิดล" เล็งพัฒนาเชิงพาณิชย์ "ศิริราช" ลงทุน 2 พันล้านเปิดศูนย์แพทย์รับ
        จุดตัดสายสีแดง-สีส้ม
        นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังรับรถไฟฟ้าชุดแรก 2 ขบวน ซึ่งสั่งซื้อจากบริษัท ฮิตาชิ วงเงิน 32,399 ล้านบาท ประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้ในระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ภายในเดือน มี.ค. 2563 รถจะมาครบ 25 ขบวน เริ่มทดสอบระบบช่วงกลางปี ทดลองการเดินรถฟรีในปีหน้าช่วงไตรมาส 4 และเปิดบริการเต็มรูปแบบเก็บค่าโดยสารในเดือน ม.ค. 2564 ในอัตรา 15-50 บาท คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 80,000-100,000 เที่ยวคนต่อวัน
        สัมปทานพื้นที่สถานีบางซื่อ
        "การเดินรถต้องรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัท รถไฟ ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งบริษัทลูกเป็นผู้ดำเนินการ เก็บค่าโดยสาร เดินรถ บริหารพื้นที่ 10 สถานี ยกเว้นสถานีบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ที่ ร.ฟ.ท.จะบริหารจัดการเอง ค่าโดยสารช่วงแรกอาจจัดโปรโมชั่นลดราคาจูงใจคนมาใช้บริการ ซึ่งสายสีแดงถือเป็นรถไฟฟ้าสายหลักที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมือง มีสถานีกลางบางซื่อเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางแห่งใหม่ ไปยังสายสีน้ำเงิน และรถไฟความเร็วสูง"
ปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อก่อสร้างคืบหน้ากว่า 91.11% จะแล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2563 เปิดบริการ 2564 พร้อมสายสีแดงจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดในอาเซียน มีพื้นที่ใช้สอยรวม 264,862 ตร.ม. ที่จอดรถ 1,700 คัน มี 24 ชานชาลา สำหรับรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และแอร์พอร์ตลิงก์         รับผู้โดยสารได้ถึง 3 แสนคน/วัน
        นายวรวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์เปิดประมูลหาเอกชนมา บริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์และศูนย์อาหาร อยู่บริเวณชั้นลอยของสถานี และกระจายตามจุดต่าง ๆ โดยรอบสถานี จะประมูลให้เอกชนรายเดียวรับบริหารจัดการ พื้นที่ป้ายโฆษณาภายในและภายนอกสถานี เป็นต้น ส่วนพื้นที่สินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ร.ฟ.ท.ไม่ได้กำหนดไว้ แต่หากเอกชนเห็นว่าพื้นที่มีศักยภาพก็เสนอเพิ่มได้
        นอกจากนี้ จะเร่งประมูล PPP net cost 30 ปี พื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง A เนื้อที่ 32 ไร่ มูลค่า 11,721ล้านบาท ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อควบคู่ไปด้วย ให้เกิดกิจกรรมรองรับการเดินทางของประชาชน เพราะสถานีกลางบางซื่อพื้นที่เชิงพาณิชย์มีน้อย แต่ต้องรอสำนักงานคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยืนยันว่า ร.ฟ.ท.ต้องดำเนินการประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2556 หรือปี 2562 เพื่อเปิดประมูลอีกครั้งต้นปีหน้า หลังรอบแรกไม่มีเอกชนยื่นประมูล
        บิ๊กค้าปลีกปิง พท.รีเทล
        แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อจะแบ่งประมูล 4 ส่วน ได้แก่ 1.พื้นที่เชิงพาณิชย์และศูนย์อาหาร 13,208 ตร.ม. ระยะเวลา 10 ปี มีผู้ประกอบการค้าปลีกสนใจหลายราย อาทิ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ 2.พื้นที่โฆษณา 2,300 ตร.ม. ระยะเวลา 10 ปี 3.จ้างเหมาบริหารพื้นที่กลาง และซ่อมบำรุง เช่น แม่บ้านทำความสะอาด รปภ. ระยะเวลา 5 ปี ค่าจ้างขั้นต่ำ 600 ล้านบาท และ 4.จ้างบริหารพื้นที่ลานจอดรถและแท็กซี่ ระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 90 กว่าล้านบาท จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณาปลายปีนี้ และเปิดประมูลต้นปี คาดว่าจะได้เอกชนกลางปีหน้า
        ส่วนพื้นที่สถานี 10 แห่งในแนวสายสีแดง ได้แก่ ตลิ่งชัน บางบำหรุ บางซ่อน จตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ หลักหก ระหว่างรอ ครม.อนุมัติบริษัทลูกให้เดินรถ ทาง ร.ฟ.ท.จะเสนอบอร์ดอนุมัติให้เปิดประมูลหาเอกชนมาบริหารไปก่อน มี 3 สัญญา สัมปทาน 10 ปี คือ พื้นที่รีเทล ป้ายโฆษณา และที่จอดรถ จากนั้นจะโอนสัญญาให้บริษัทลูกรับบริหารต่อไป
        ทุ่งสองห้อง-หลักสี่คึก
        "ส่วนการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นใหม่ในแนวสายสีแดงเริ่มคึกคักขึ้น มีเอกชนสนใจจะก่อสร้างทางเดินเชื่อมกับสถานี เช่น สถานีหลักสี่ ห้างไอทีสแควร์สร้างสกายวอล์กมาเชื่อม
        สำหรับความคืบหน้าส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 27.94 กม. วงเงินลงทุนรวม 23,417.61 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท 2.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท และ 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท นายวรวุฒิกล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อต้นปี 2562 ล่าสุด ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดประมูล ตั้งเป้าเปิดขายเอกสารประมูลเดือน ธ.ค.นี้ หรืออย่างช้าต้นปี 2563 จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี กำหนดแล้วเสร็จเปิดบริการปี 2565
        "ส่วนต่อขยายใหม่จะมาเติมเต็มโครงข่ายของสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อใจกลางกรุงเทพฯกับชานเมืองไปยัง จ.ปทุมธานี และนครปฐม สะดวกรวดเร็วขึ้น"
        นอกจากนี้จะก่อสร้างสถานีใหม่เพิ่มให้การเดินทางครอบคลุมมากขึ้น ได้แก่ สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ของเส้นทางช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จากเดิมมี 3 สถานี คือ บางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน และเพิ่ม 1 สถานีของช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ที่สถานีบ้านฉิมพลี เป็น 4 สถานี ได้แก่ ฉิมพลี กาญจนาภิเษก ศาลาธรรมสพน์ และศาลายา ส่วนช่วงรังสิตม.ธรรมศาสตร์ มีสถานี ม.กรุงเทพ เพิ่มเป็น 4 สถานี ได้แก่ คลองหนึ่ง เชียงรากน้อย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
        "ปีแรกช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ จะมีผู้โดยสาร 28,150 เที่ยวคน/วัน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 47,570 เที่ยวคน/วัน และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช อยู่ที่ 55,200 เที่ยวคน/วัน" นายวรวุฒิกล่าว
        ธรรมศาสตร์ผุดฟีดเดอร์รับ
        ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กำลังศึกษารูปแบบระบบขนส่งสายรองเพื่อเป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับสถานี ม.ธรรมศาสตร์ ของสายสีแดงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เบื้องต้นกำหนดโครงสร้างแบบยกระดับ ใช้ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงาน เช่น รถไฟฟ้า (EV) ส่วนจะเป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (light rail) หรือระบบอื่นไม่ยังสรุป
        แต่กำหนดแนวเส้นทางไว้แล้วจะก่อสร้างจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)-สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)-สถานี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 2-2.5 กม. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการลงทุน มี 2 ทางเลือก คือ มหาวิทยาลัยลงทุนเอง กับเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP
        สร้างเมืองใหม่ในมหา'ลัย
        ปัจจุบัน มธ.กำลังปรับปรุงและก่อสร้างอาคารใหม่ ประกอบด้วย 1.ก่อสร้าง อาคารกิติยาคาร วงเงิน 498 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลและ มธ.ออกงบประมาณคนละ 50% เป็นการปรับปรุง9น.อาคารยิมเนเซียม 2 เดิม พัฒนาเป็นหอประชุมขนาด 3,500 ที่นั่ง จัดการประชุมสัมมนา กำลังปรับปรุงภูมิทัศน์ จะแล้วเสร็จเดือน ก.ค. 2563
        2.อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี พื้นที่ 92 ไร่ วงเงิน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่อาคารอุทยานการเรียนรู้ 4 ชั้น พื้นที่ 12 ไร่ จะเปิดใช้วันที่ 10 ธ.ค.นี้ กับสวนป๋วยพื้นที่ 80 ไร่ ออกแบบเรียบร้อยแล้ว จะทำสัญญาจ้างเดือน พ.ย.นี้ จะพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว มีทั้งพื้นที่ปลูกผักสวนครัว แปลงนาข้าว สวนสาธารณะ และลานกิจกรรมสำหรับให้คนทุกวัยมาใช้ออกกำลังกาย 3.แผนขยายโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจาก 750 เตียง เป็น 900 เตียง และได้วางแผนพัฒนาโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยมเหมือนโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ด้วย
        แหล่งข่าวจาก มธ.กล่าวเสริมว่า การก่อสร้างสวนป๋วยจะต้องระดมทุนให้ได้ 150 ล้านบาท ปัจจุบันระดมทุนได้แล้ว 90 ล้านบาท อาจจะนำเงินดังกล่าวลงทุนไปก่อน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ระดมทุนให้ครบ ส่วนรายละเอียดภายในอาคารอุทยานการเรียนรู้ขนาด 4 ชั้น แบ่งเป็นคอนเสิร์ตฮอลล์ครึ่งหนึ่งขนาด 630 ที่นั่ง อีกครึ่งหนึ่งจะมีห้องจัดนิทรรศการชั่วคราว-ถาวรของมหาวิทยาลัย, ห้องสมุดสำหรับบริการประชาชน และหอจดหมายเหตุ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเมื่อมีการเปิดใช้ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ จะเปิดใช้ทุกพื้นที่ ยกเว้นหอจดหมายเหตุ
        ศาลายาติดล็อกที่ดิน-ผังเมือง
        ด้าน ผศ.ดร.วศพร เตชะพีรพานิช รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีศาลายา สถานีปลายทางสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ตามที่ได้วางแผนไว้ยังมีข้อจำกัด เพราะที่ดินโดยรอบส่วนมากเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประมาณ 180 ไร่ จึงต้องหารือกับสำนักงานทรัพย์สินฯก่อน
        และยังต้องรอเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งบริเวณนี้ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2556 กำหนดให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ต้องปรับ แก้เป็นสีแดงพาณิชยกรรม ก่อน จึงจะนำ พื้นที่มาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ อยู่ระหว่างขอปรับแก้กับคณะอนุกรรมการผังเมือง
        ศิริราชโมเดลเชื่อมล้อ-ราง-เรือ
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ "โรงพยาบาลศิริราช" จะลงทุนรับจุดเชื่อมต่อสายสีแดงและสายสีส้มที่สถานีศิริราชได้MOUกับคมนาคม ก่อสร้างสถานีศิริราช และอาคารรักษาพยาบาล 15 ชั้นอยู่บนสถานี ซึ่งสถานีจะอยู่ใต้ดิน ชั้น 1-2  ทางโรงพยาบาลศิริราชจะสร้างอาคาร 2,000 ล้านบาท ชั้นที่ 3-15 ชั้น 3-4 เป็นคลินิกผู้ป่วยนอก ชั้น 5 พื้นที่โรงพยาบาล ชั้น 6 อาคารสำนักงาน ชั้น 7 หอผู้ป่วยไอซียู ชั้น 7-M พื้นที่วิศวกรรมงานระบบและส่วนขยาย ชั้น 8-15 หอผู้ป่วย126 เตียง ที่จอดรถ 95 คัน รับผู้ป่วยได้สูงสุด 10,000 คนต่อวัน
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ