สต็อกที่อยู่อาศัย 2.2 แสนยูนิต อีสานคอนโดซบ คนไม่นิยม
Loading

สต็อกที่อยู่อาศัย 2.2 แสนยูนิต อีสานคอนโดซบ คนไม่นิยม

วันที่ : 30 ตุลาคม 2562
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เปิดสต็อกที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 2.2 แสนหน่วย คาดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ปลายปี 62 ปลดล็อกสต็อก 1.8 แสนหน่วย เร่งขาย-โอน กู้วิกฤติอสังหาปี 63 จากคาดติดลบ 5% ผงกหัว เป็นบวก ห่วงสต็อกคงค้างสะสมคอนโดภาคอีสานกว่าพันยูนิต โดยเฉพาะในอุดรฯ เหตุไม่นิยมเท่าบ้านเดี่ยว
          ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เปิดสต็อกที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 2.2 แสนหน่วย คาดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ปลายปี 62 ปลดล็อกสต็อก 1.8 แสนหน่วย เร่งขาย-โอน กู้วิกฤติอสังหาปี 63 จากคาดติดลบ 5% ผงกหัว เป็นบวก ห่วงสต็อกคงค้างสะสมคอนโดภาคอีสานกว่าพันยูนิต โดยเฉพาะในอุดรฯ เหตุไม่นิยมเท่าบ้านเดี่ยว

          วานนี้ (29 ต.ค.) ในงานสัมมนา "วิเคราะห์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" รวม 5 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และมหาสารคาม นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายปี 2562  พบว่า มีที่อยู่อาศัยเหลือขายทั่วประเทศ 2.2 แสนหน่วย

          ในจำนวนนี้แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยมี จำนวนหน่วยที่อยู่ระหว่างขาย (Total Supply) 16,206 หน่วย(ยูนิต) แบ่งเป็น บ้านจัดสรร หรือบ้านแนวราบ 12,472 หน่วย อาคารชุด (คอนโดมิเนียม) 3,496 หน่วย และวิลล่า (บ้านพักตากอากาศ) 238 หน่วย โดยมีจำนวนหน่วยเหลือขาย 13,327 หน่วยลดลง 0.9% เทียบจากปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 50,967 ล้านบาท ลดลง 11.2% เทียบกับปีก่อน โดยมีจำนวน 316 โครงการ แบ่งเป็นบ้านจัดสรร หรือแนวราบ 10,382 หน่วย และอาคารชุด มีจำนวนเหลือขาย 2,779 หน่วย

          จังหวัดที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุด คือ นครราชสีมา มีจำนวน 6,371 หน่วย, ขอนแก่น จำนวน 3,273 หน่วย, ขอนแก่น 3,273 หน่วย อุบลราชธานี จำนวน 1,478 หน่วย และมหาสารคาม จำนวน 684 หน่วย

          นอกจากนี้ สิ่งที่น่าห่วงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ สต็อกคงค้างสะสมตั้งแต่ปี 2557-ครึ่งแรกของปี 2562 ในกลุ่มอาคารชุด ยังถือว่ามีจำนวนมากโดยเฉพาะหน่วยเหลือขายและก่อสร้างที่พร้อมโอน ใน 3 จังหวัด นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี มีจำนวน 1,140 หน่วย โดยอยู่ใน นครราชสีมา (เขาใหญ่) ในกลุ่มอาคารชุด และบ้านพักตากอากาศมี 9 โครงการ 211 หน่วย รวมถึงขอนแก่นและอุดรธานีบางส่วนมีสต็อกสะสมคงค้างที่ขายไม่ออกตั้งแต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

          โดยเฉพาะในอุดรธานี ที่บริษัทอสังหาฯ ตลาดหลักทรัพย์ เข้าไปพัฒนาแต่ยังไม่ ตอบโจทย์กับความต้องการของคนใน ต่างจังหวัดที่ไม่นิยมอยู่อาคารชุด

          "ภาพรวม5ปีย้อนหลังเฉลี่ยซัพพลายประมาณ1.3หมื่นหน่วย ซัพพลายเหลือในปัจจุบันมีค่าใกล้เคียงกับเดิมไม่เติบโตมากนัก ทำให้ซัพพลายยังน้อยไม่น่าจะมีโอเวอร์ซัพพลายมากนัก แต่ที่น่าห่วง คือกลุ่มคอนโด ที่ยังเหลือค้างโดยเฉพาะในราคา 2-3 ล้านบาท ภาพรวมอัตราการดูดซับ ยังต่ำกว่ากว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา"

          สำหรับภาพรวมแนวโน้มหน่วยเหลือขายในปี 2563 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนประมาณ 9,574 หน่วย บ้านจัดสรรมีประมาณ 7,233 หน่วย คิดเป็น 75.5% อาคารชุด มีประมาณ 2,341 หน่วย คิดเป็น 24.5% หน่วยที่มีมากที่สุด คือ บ้านเดี่ยว 45.6% รองลงมาเป็นอาคารชุด 24.5% ทาวน์เฮ้าส์ 14.2% บ้านแฝด 11.4% ที่เหลือเป็น อาคารพาณิชย์

          โดยภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ใน ต่างจังหวัดมีการชะลอตัว เนื่องมาจาก ผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้เศรษฐกิจ จังหวัดเมืองใหญ่ชะลอตัว  จากการชะลอตัวในภาคการเกษตร  ท่องเที่ยว ทำให้ภาพรวมอสังหาฯ ชะลอตัว ซึ่งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากกระทรวงการคลังที่ลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง ที่จะใช้ในช่วงสิ้นปี 2562 จนถึง สิ้นปี 2563

          ส่งผลทำให้เกิดการเร่งการขายในช่วงต้นปี 2563 และมีการเร่งโอนในช่วงปลายปี 2562 จึงทำให้ที่อยู่อาศัยในมีการโอนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2563 จึงมีกลุ่มซัพพลายที่ได้รับผลประทบเชิงบวก ประมาณ 1.8 แสนหน่วย ที่จะส่งผลทำให้ ภาพรวมอสังหาฯในปี 2563 มีโอกาสกลับมาเป็นบวกจากเดิมที่คาดการณ์จะติดลบ 5%

          ด้านายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงปี 2562 จนถึงปี 2563 ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัด ยังเผชิญกับอัตราดูดซับที่ลดลงส่งผลทำให้ซัพพลายคงค้างยังมีสูง โดยเฉพาะอาคารชุด แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นและมีความต้องการเพิ่มขึ้น เมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ทางด่วนพิเศษหรือ มอเตอร์เวย์ ที่จะส่งผลทำให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้น เกิดการลงทุนขยายตัวของเมือง ซึ่งปัจจุบันกระแสการพัฒนาส่งผลทำให้ราคาที่ดินในจังหวัดเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

          ด้านนางพีรญา รักสุจริต กรรมการผู้จัดการ เดอะสปริงเพลส จำกัด ผู้พัฒนาโครงการจังหวัดขอนแก่น  กล่าวว่า จังหวัดมีการเติบโตเนื่องจากการขับเคลื่อนจังหวัดที่มีประชาชนและภาคธุรกิจที่มีการวางแผนพัฒนาเมือง มีระบบการขนส่งมวลชนรถไฟ รวมถึงเมืองศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาล จะส่งผล ต่อการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตข้างหน้า แต่ปัจจุบันยังเติบโตเชื่องช้า เนื่องมาจากภาพรวมเศรษฐกิจยังซบเซาอัตราการดูดซับยังชะลอตัว

          การลดค่าโอนและจดจำนอง จะทำให้เกิดการเร่งขายในช่วงต้นปี 2563 เร่งโอนในปลายปี 2562 ทำให้ภาพรวมอสังหาฯปี 2563 มีโอกาสกลับมาเป็นบวก