เน้นยูสเคสตอบโจทย์สังคมทรูลุ้นรัฐลุย5จี
Loading

เน้นยูสเคสตอบโจทย์สังคมทรูลุ้นรัฐลุย5จี

วันที่ : 18 ตุลาคม 2562
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยอดใช้จ่ายของประชาชนจากมาตรการ ชิมช้อปใช้ อยู่ที่กว่า 8 พันล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายกระเป๋า 1
          ดันบิ๊กตู่-นายกจีนเซ็นสัญญา สร้างไฮสปีด'กรุงเทพ-โคราช' ไทยชื่นมื่นอียูจ่อร่วมมือเพียบ

          คลังย้ำ'ชิมช้อปใช้'เงินกระจายทุกจังหวัด ลงไปถึงคนหาปลา-ปลูกผัก- ลูกจ้าง สรรพากรเปิดคืนแวต นักท่องเที่ยว

          คลังยันเงินชิมช้อปใช้หมุนในศก.

          เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยอดใช้จ่ายของประชาชนจากมาตรการ ชิมช้อปใช้ อยู่ที่กว่า 8 พันล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายกระเป๋า 1 แต่กระทรวงการคลังเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของมาตรการจะมีการใช้จ่ายในกระเป๋า 2 มากขึ้นจากขณะนี้มียอดแค่ 100 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนที่ได้รับสิทธิต้องใช้กระเป๋า 1 ให้หมดก่อนจึงจะเริ่มใช้กระเป๋า 2

          ทั้งนี้ การใช้กระเป๋า 2 นั้นสามารถใช้ได้ทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดในทะเบียนบ้าน และการคืนเงินให้ 15% ถือว่าไม่น้อย ดังนั้นจึงมั่นใจว่าทำให้ประชาชน 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนไว้ใช้จ่ายกระเป๋า 2 มากขึ้น และหากรวมกับประชาชนที่จะลงทะเบียนเพิ่มเติมในเฟส 2 คาดว่าเงินจากชิมช้อปลงไปในระบบเศรษฐกิจประมาณ 6 หมื่นล้านบาท น่าจะมีส่วนทำให้ทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยโตถึง 3%

          "เงินที่ลงไปในระบบจากชิมช้อปใช้ส่วนใหญ่กระจายทุกจังหวัด และเป็นการใช้จ่ายในร้านค้ารายย่อยกว่า 80% ทำให้เห็นว่าเงินจากมาตรการกระตุ้นลงไปถึงฐานราก และเงินที่ลงไปนั้นสามารถหมุนเวียนถึง 3-4 รอบได้ โดยพบว่าเมื่อวันหยุดยาวเข้าพรรษาที่ผ่านมาร้านอาหารสั่งวัตถุดิบเพิ่มขึ้นวันละ 2-3 รอบ จากปกติสั่งวัตถุดิบวันละ 1 รอบ ดังนั้นเงินใช้จ่ายดังกล่าวลงไปถึง คนหาปลา คนปลูกผัก ลูกจ้างในร้าน ทำให้คนในกลุ่มนี้มีเงินนำมาใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อในกลุ่มนี้ดีขึ้น" นายลวรณกล่าว

          ลุ้นต่อเฟส2ดันจีดีพีปี62โต3%

          นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการของรัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้ทั้งเรื่องประกันราคาข้าว ปาล์ม ยาง มาตรการชิมช้อปใช้ มาตรการแจกเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ ใช้เงินรวมไปเกือบ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือน หากรัฐสามารถอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบอีก 3-5 หมื่นล้านบาท น่าจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 โตได้ถึง 4% และส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปีโตได้ถึง 3%

          นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า การอัดฉีดเงินเพิ่มอาจดำเนินการในรูปแบบของชิมช้อปใช้เฟส 2 ต้องกระตุ้นให้ประชาชนในกลุ่มมีกำลังซื้อควักเงินออกมาจ่ายเพิ่ม ถ้าประชาชนใช้จ่ายในระดับ 3-5 หมื่นล้านบาท เท่ากับรัฐบาลต้องคืน 15% ให้กับประชาชนในกลุ่มนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มองว่าโอกาสสำเร็จมีมาก และถ้าดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว เช่น 100 เดียว เที่ยวทั่วไป น่าจะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มคนที่มีแผนจะท่องเที่ยวตัดสินใจไปท่องเที่ยวซึ่งทำให้การท่องเที่ยวในไตรมาส 4 เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตถึง 3% จากเดิมมหาวิทยาลัยหอการ ค้าไทยมองว่ามีโอกาสโตได้เพียง 2.8% เท่านั้น

          "ประเมินชิมช้อปใช้เฟสแรกคาดว่าจะทำให้เกิดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท หรือหมุนประมาณ 2 รอบ เพราะมีเงินส่วนหนึ่งไปอยู่ในห้างและโมเดิร์นเทรน แต่ถ้าเฟส 2 เปลี่ยนมายังกลุ่มร้านค้ารายย่อย โอท็อป ร้านค้าชุมชนให้มากขึ้น น่าจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 โตถึง 3.5-4%" นายธนวรรณธน์กล่าว

          ดัชนีเอสเอ็มอีไตมาส3ยังซึม

          นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า ศูนย์พยากรณ์ฯร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำรวจดัชนีความสามารถการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาส 3/2562 พบว่าดัชนีมีการปรับตัวลดลง 0.9 จุดมาอยู่ที่ระดับ 46.9 เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นค่าดัชนีต่ำสุดในรอบปี ซึ่งค่าดัชนีต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจ เอสเอ็มอียังซึมตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากกำลังซื้อในประเทศ และกำลังซื้อระหว่างประเทศไม่ดี ส่งผลให้เอสเอ็มอีมียอดขายและกำไรลดลง โดยเอสเอ็มอีคาดหวังว่าในไตรมาส 4/2562 จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับ 47.1

          นายธนวรรธน์กล่าวว่า ส่วนขณะที่ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ซึ่งบ่งบอกถึงสภาพปัจจุบัน เอสเอ็มอีในไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.5 หรือปรับตัวลดลง 1.2 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา คาดหวังว่าไตรมาส 4 จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 47.9 ส่วนดัชนีความสามารถการทำธุรกิจ (อนาคตเอสเอ็มอีในอีก 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า) ไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับตัวลดลง 1 จุดคาดว่าไตรมาส 4 ขยับมาอยู่ที่ 48.1 สำหรับดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ (อนาคตเอสเอ็มอี 3-5 ปีข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 51.1 ปรับตัวลดลง 0.7 จุด คาดว่าไตรมาส 4 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 51.4

          ททท.มั่นใจ2มาตรการกระตุ้นเที่ยว

          นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนจัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงปลายปี 2562 และส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านมาตรการ "ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย" และ "เที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก" ซึ่งจะเริ่มต้นใช้มาตรการวันที่ 1 พฤศจิกายน- 31 ธันวาคม 2562 เชื่อมั่นว่าหลังใช้ 2 มาตรการแล้วจะก่อให้เกิดการเดินทางของไทยเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 10-20% หรือประมาณ 180 ล้านคนครั้ง จากเดิมคาดไว้ 166 ล้านคนครั้ง และสร้างรายได้หมุนเวียนเพิ่มกว่า 400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5-10% ซึ่งมาตรการทั้ง 2 ตัวที่ออกมานั้นเพื่อสร้างความต่อเนื่องและเสริมการใช้จ่ายของมาตรการชิมช้อปใช้ช่วงก่อนหน้านี้ โดยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าที่ 2 ของแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง และสารมารถแลกรับเงินคืน (แคชแบ๊ก) ได้ถึง 15%

          "ซึ่งมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะสร้างรายได้ไทยเที่ยวไทย 1.12 ล้านล้านบาท รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.04 ล้านล้านบาท จำนวน 39.8 ล้านคน รวมสร้างรายได้กว่า 3.16 ล้านล้านบาท" นายยุทธศักดิ์กล่าว

          เปิดรายละเอียดใช้สิทธิ2มาตรการ

          นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า มาตรการร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย กำหนดให้ลงทะเบียนรับสิทธิซื้อสินค้าและบริการราคา 100 บาทต่อรายการ และซื้อได้ 1 รายการต่อ 1 คน โดยเปิดให้ลงทะเบียน 4 วันคือ 11-12 พฤศจิกายน และ 11-12 ธันวาคม 2562 ผ่านเว็บไซต์ www.tourismthailand.org/ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย หรือ www.ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย.com ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. ของแต่ละวันหรือจนกว่าสินค้าจะหมด กำหนดให้วันละ 10,000 สิทธิ 10,000 รายการเท่านั้น สินค้า 5 หมวดคือ 1.หมวดการเดินทาง อาทิ บัตรโดยสารเครื่องบินและรถบัสปรับอากาศ 2.หมวดที่พัก 3.หมวดอาหารและเครื่องดื่ม 4.หมวดแพคเกจทัวร์ และ 5.หมวดแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมนันทนาการ รวมสินค้าอื่นๆ กว่า 40,000 รายการ โดยใช้สิทธิได้ถึง 31 ธันวาคม 2562 โดยสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดตามบัตรประชาชน นอกจากนี้ ททท.ยังเพิ่มความพิเศษด้วยการมอบของขวัญพิเศษให้กับผู้ลงทะเบียนในลำดับที่ 6,000 7,000 8,000 9,000 และ 10,000 รายในแต่ละวัน รวมไปถึงนักท่องเที่ยวหัวใจสีเขียว ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของ ททท.

          นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า มาตรการเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก จัดโปรโมชั่นลดราคาสูงสุดถึง 80% ในสินค้าและบริการระดับหรูหราของไทย เพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยในระดับกลางถึงบน ควบคู่กับการยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย สู่ระดับจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ โดยเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน-31 ธันวาคม 2562 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป หากลงทะเบียนแล้วจะได้รหัสคูปอง และต้องชำระเงินตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการภายใน 5 วัน สินค้า 9 กลุ่ม อาทิ ตั๋วสายการบิน โรงแรมที่พักระดับ 5 ดาว สินค้าด้านสุขภาพและความงาม สินค้าระดับพรีเมียม กิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงร่วมสมาคมภัตตาคารไทย จัดแคมเปญ "100,000 อิ่ม กินวันธรรมดา ราคาช็อกโลก" นำเสนอประสบการณ์อาหารไทยในร้านอาหารชื่อดังราคาพิเศษ เป็นต้น

          สรรพากรปรับเกณฑ์คืนภาษีแวต

          นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมปรับเกณฑ์ใหม่เรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นเงินสด หลังจากคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) อนุมัติเรื่องการคืนแวต เป็นเงินสดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ จุดซื้อสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

          นายปิ่นสายกล่าวว่า เกณฑ์ใหม่ ได้แก่ 1.เปิดให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดได้ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ 10 แห่งคือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ อู่ตะเภา กระบี่ สมุย และสุราษฎร์ธานี จากแต่เดิมอนุญาตเพียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง 2.เปิดโอกาสให้ตัวแทนทั่วประเทศคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย เป็นเงินสดได้ จากเดิมให้เฉพาะตัวแทนในเขตกรุงเทพฯ 3.เพิ่มเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิม 12,000 บาทต่อคน เพิ่ม เป็น 30,000 บาทต่อคน และ 4.หากซื้อสินค้ามูลค่ารวมไม่เกิน 5,000 บาท นักท่องเที่ยวไม่ต้องผ่านการตรวจจากศุลกากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ จากเดิมต้องเปิดกระเป๋าให้เจ้าหน้าที่ตรวจสินค้า ณ เคาน์เตอร์ศุลกากร

          นายปิ่นสายกล่าวว่า การเปิดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด ณ จุดซื้อสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทดลองแล้ว การคืนภาษี ณ จุดขาย สามารถเพิ่มยอดขายให้ร้านค้าในประเทศเพิ่มขึ้น 10% และในอนาคต กรมเตรียมนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการคืนภาษีของนักท่องเที่ยวบนระบบออนไลน์ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถรับภาษีคืนได้ภายใน 3 วันทำการ ซึ่งจะลดการใช้กระดาษได้สูงสุด 10 ล้านใบต่อปี

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลการดำเนินการ แซนด์บ็อกซ์ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการขอคืนภาษี สูงสุด 3 ลำดับแรก คือ จีน สิงคโปร์ และไต้หวัน

          กลุ่มอสังหาฯชี้ตลาดซบเซา

          ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวในงานสัมมนาวิเคราะห์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 2020 จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ยังซบเซา แม้เพิ่มผู้ประกอบการแต่เปิดโครงการใหม่ลดลงทำให้มีซัพพลายใหม่เข้าตลาดไม่มาก อัตราดูดซับซัพพลายชะลอตัว สะท้อนจากยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยลบต่างๆ เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (มาตรการแอลทีวี) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นต้น ที่เข้ามากระทบกำลังซื้อของทั้งผู้ซื้อในและผู้ซื้อต่างชาติที่สัดส่วนหลักคือชาวจีน ประเมินว่าปี 2562 คาดจำนวนยูนิตโอนกรรมสิทธิ์แนวราบอยู่ที่ 95,087 ยูนิต ติดลบ 4.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนยูนิตคอนโดมิเนียมคาดติดลบ 17.7% หรือ 80,122 ยูนิต ด้านมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์แนวราบอยู่ที่ 297,442 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% ขณะที่ มูลค่าคอนโดมิเนียมติดลบ 21.1% หรือมูลค่า 214,236 ล้านบาท

          นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับซัพพลายคงค้างในตลาดยังสูง โดยครึ่งแรกปี 2562 มีซัพพลายใหม่เข้ามา 41,837 ยูนิต ทำให้ซัพพลายคงค้าง 151,993 ยูนิต สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 138,720 ยูนิต ช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่า ซัพพลายใหม่ 41,758 ยูนิต ทำให้สิ้นปีนี้มีซัพพลายคงค้างที่ 150,692 ยูนิต และประเมินว่าซัพพลายคงค้างปี 2563 ยังอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา คาดครึ่งปีแรก 2563 มีซัพพลายใหม่ 48,789 ยูนิต และคงค้าง 154,901 ยูนิต และครึ่งปีหลัง 2563 มีซัพพลายใหม่ 41,675 ยูนิต จุดที่ต้องติดตามคือซัพพลายคงค้างที่เป็นคอนโดมิเนียมที่ 60,000-70,000 ยูนิต กว่า 20,000-30,000 ยูนิต เป็นยูนิตที่อยู่ระหว่างการการก่อสร้างและยังขายไม่ได้ หากยูนิตเหล่านี้แล้วเสร็จออกมาและยังขายไม่ได้จะเป็นภาระของผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับและต้องมีการบริหารจัดการการเงินให้ดี

          สัญญาณปี'63ยังชะลอต่อ

          "ซัพพลายใหม่เข้ามาน้อยแต่ซัพพลายคงค้างยังมีสูง สะท้อนว่ากำลังซื้อลดลง ถ้าภาครัฐไม่มีมาตรการกระตุ้นออกมาอาจจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์มีโอกาสที่จะติดลบต่อทั้งจำนวนยูนิตและมูลค่า โดยปี 2563 คาดกรณีเลวร้ายที่สุดเศรษฐกิจยังชะลอตัวและยังมีปัจจัยลบ จำนวนแนวราบจะติดลบ 12.0% และคอนโดมิเนียมติดลบ 16.0% ส่วนมูลค่าแนวราบติดลบ 5.5% และมูลค่าคอนโดมิเนียมติดลบ 16.6% แต่หากมีการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน อาทิ ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง เป็นต้น รวมทั้งยังทำให้สร้างบรรยากาศและจูงใจในการซื้อที่อยู่อาศัยจะช่วยให้ตลาดฟื้นตัวได้ ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์อาจจะไม่คิดลบและเป็นบวกได้" นายวิชัยกล่าว

          5ทำเลเหลือขายมากสุด

          นายวิชัยกล่าวว่า สำรวจตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ช่วงครึ่งแรกปี 2562 จำนวนอยู่ระหว่างขาย 1,670 โครงการ เพิ่มขึ้น 11.8% เหลือขาย 152,149 ยูนิต เพิ่มขึ้น 15.4% คิดเป็นมูลค่า 669,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.2% โดยบ้านจัดสรรมีจำนวน 1,137 โครงการ เหลือขาย 87,180 ยูนิต มูลค่า 404,369 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม 533 โครงการ มีหน่วยเหลือขาย 64,969 ยูนิต มูลค่า 265,301 ล้านบาท สำหรับทำเลบ้านจัดสรรที่เหลือขายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ทำเลบางใหญ่บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย 2.ทำเลลำลูกกาคลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ 3.ทำเลบางพลีบางบ่อ-บางเสาธง 4.ทำเลเมืองสมุทรปราการพระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ 5.ทำเลคลองสามวา-มีนบุรี-หนองจอก-ลาดกระบัง ส่วนทำเลคอนโดมิเนียมที่เหลือขายมากที่สุด 5 อันดับแรกโดยพิจารณาจากหน่วยเหลือขายสะสม ได้แก่ 1.ทำเลห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง 2.ทำเลสุขุมวิท 3.ทำเลเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด 4.ทำเลธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่บางพลัด และ 5.ทำเลลำลูกกา-คลองหลวงธัญบุรี-หนองเสือ

          นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หลังจากมาตรการ แอลทีวีบังคับใช้ พบว่าภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงขยายตัวได้ แต่พบว่าสินเชื่อที่ได้รับผล กระทบ ได้แก่ ปล่อยใหม่สำหรับการกู้ 2 สัญญาขึ้นไป โดยเฉพาะเพื่อซื้อคอนโดมิเนียม โดยข้อมูลครึ่งปีแรก 2562 พบว่าจำนวนบัญชีสินเชื่อปล่อยใหม่เพิ่มขึ้น 14.2% ส่วนการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไปติดลบ 13.0% อย่างไรก็ตาม ซัพพลายคงค้างยังอยู่ในระดับสูงและพบว่ากำลังซื้อจากต่างชาติมีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และทิศทางเดียวกันในทุกประเทศ โดยช่วงปี 2559-61 มีการโอนเงินเพื่อนำมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเกือบถึงแสนล้านบาท สัดส่วน 50% ของมูลค่ามาจากจีนและฮ่องกง แต่ปัจจุบันรายเดือนลดลงต่อเนื่อง 25%

          ตามแนวรถไฟฟ้าเริ่มอ่อนตัว

          "ไตรมาสที่ 3 และ 4 ยังต้องติดตาม เริ่มเห็นการทยอยเปิดคอนโดมิเนียมใหม่ลดลง ราคาที่อยู่อาศัยปรับขึ้นชะลอลงเพราะกลุ่มเก็งกำไรลดลง ระยะเวลาการขายหมดแนวราบค่อนข้างใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 44 เดือน ส่วนคอนโดมิเนียมขายหมดเพิ่มขึ้นจาก 18 เดือน เป็น 21 เดือน โดยขายช้าในทำเลที่มีซัพพลายจำนวนมาก เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สถานการณ์ความต้องการซื้อและซัพพลายขณะนี้ยังทรงตัว" นายสักกะภพกล่าว

          นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ ด้านยอดขายคาดว่าจะชะลอตัวจากความไม่เชื่อมั่นต่อทั้งภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ต่างชาติชะลอลง ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าจะไปได้ เพราะเป็นโครงการที่ขายไปแล้วก่อนหน้านี้ที่จะแล้วเสร็จและมีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่มีความท้าทาย เพราะธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและมีมาตรการแอลทีวีออกมา ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องเตรียมตัวและมีการพรีแอพพรูพลูกค้าก่อนเพื่อให้กู้ผ่านจากสถานการร์หนี้ครัวเรือนสูง อาจมีการทำโครงการเช่าก่อนซื้อ หรือหากกู้ห้องเดิมไม่ผ่าน อาจจะเปลี่ยนให้กู้ยูนิตใหม่ที่มีมูลค่าเหมาะสมที่ผู้กู้ผ่อนได้ อาจจะเป็นโครงการเดิมหรือเปลี่ยนโครงการ เป็นต้น เพื่อรักษายอดโอนกรรมสิทธิ์สร้างรายได้ นอกจากนี้ยังต้องติดตามผลกระทบ จากปัจจัยลบอื่นๆ อาทิ การบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การปรับปรุงผังเมือง การจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

          แนะผุดตจว.กระจายความเสี่ยง

          นายอธิปกล่าวว่า ปัจจัยหนุนจากอัตราดอกเบี้ย ที่อยู่ในระดับต่ำหนุนกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นยังต้องมีการซื้อ แต่อาจชะลอซื้อในสินค้าที่ไม่จำเป็น อีกทั้งผู้ประกอบการอาจปรับตัวเพื่อเพิ่มตลาดใหม่และกระจายความเสี่ยง เช่น จังหวัดที่มีทั้งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ระดับราคา 1.5-5 ล้านบาทเป็นหลัก ภาพรวมยอดโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้คาดกระทบน้อย แต่ยอดขายน่าจะติดลบและไม่ถึง 10% ผลจากยอดขายคอนโดมิเนียมที่ติดลบมาก แต่แนวราบลบไม่เกิน 5%

          ชงผู้นำไทย-จีนลงนามไฮสปีดเฟส1

          นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันที่ 17 ตุลาคม ที่ประชุมบอร์ดการรถไฟมีมติเห็นชอบร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ฉบับที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633 ล้านบาท โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนจะมีกำหนดจะร่วมกันลงนามสัญญาดังกล่าวในช่วงที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมช่วงวันที่ 2-5 พฤศจิกายน 2562

          'ทรู'เชียร์รัฐร่วมเอกชนสร้างศก.5G

          นายกิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  กล่าวขณะนำคณะสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยี 5G ของไชน่า โมบาย ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ไชน่า โมบาย  ถือเป็นพันธมิตรรายใหญ่ของทรู โดยขณะนี้ไชน่า โมบาย อยู่ในช่วงพัฒนาโครงข่าย 5G ให้สามารถใช้งานได้ทั่วเมืองเฉิงตู เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการเปลี่ยนทั้งเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ รวมถึงเรื่องการบรรเทาสาธารณภัย หากเปรียบเทียบกับไทยแล้วถือว่าจีนมีเทคโนโลยีทันสมัยกว่ามาก

          "ผมมองว่าตอนนี้เทคโนโลยี 5G เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนแล้ว สิ่งที่ ไชน่าโมบาย กับทรู คิดคล้ายกัน คือเรื่องการ กระจายโครงข่ายให้ไปถึงพื้นที่ชนบท เช่น การรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ทุรกันดาร เป็นต้น มองว่าถึงเวลาที่รัฐบาลไทยควรเน้นเรื่องของการพัฒนาโครงข่าย 5G ให้เกิดประโยชน์กับสังคมมากยิ่งขึ้น โดยการนำบทเรียนของประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น จีน  เพื่อลดระยะเวลาการวิจัยและพัฒนา หากเทคโนโลยี 5G ถูกนำมาใช้ในส่วนของการดูแลระดับน้ำของไทยเพื่อใช้ในการวิเคราะห์การปล่อยน้ำในเขื่อนต่างๆ อาจทำให้ลดปัญหาน้ำไม่พอสำหรับเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้งได้" นายกิตติณัฐกล่าว

          นายกิตติณัฐกล่าวว่า เทคโนโลยี 5G เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประเทศและจำเป็นต้องตระหนักถึงสิ่งที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างไร สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการนำความเร็วของอินเตอร์เน็ต มาใช้ในการทำงานเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาทิ ภาคการเกษตรที่มีการนำกล้องความละเอียดสูงเข้ามาติดตั้งและใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลของผลิตผลทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตรงจุดนี้ด้วย

          นายกิตติณัฐกล่าวต่อว่า ส่วนตัวไม่ได้มองว่าการร่วมมือกับไชน่า โมบาย จะเป็นการทำให้ไทยถูกชักนำโดยจีน แต่ให้มองในส่วนของการลงทุน หากมีการร่วมมือกันไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นจีนอย่างเดียว อาจมีการร่วมมือกับบริษัทจากยุโรปหรือสหรัฐในการทำแบบเดียวกัน เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตลดลง และส่งผลต่อประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาและร่วมมือกับสถาบันทางการศึกษามากมาย รวมถึงภาคเอกชนในหลากหลายด้าน อาทิ โลจิสติกส์ ค้าปลีก และพลังงาน เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถใช้ได้จริงในสังคมไทย

          โชว์ปล่อย5Gสถานีรถไฟฟ้าแรก

          นายนริศ รังษีนพมาศ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไชน่า โมบายได้พัฒนาศักยภาพโครงข่าย 5G ในจีน ซึ่งใช้คลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะมีการประมูลในไทยปี 2563 ซึ่งปริมาณการรับและการส่งข้อมูลของสัญญาณสามารถใช้งานได้ถึง 1 กิกะบิต โดยเริ่มติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานและตัวกระจายสัญญาณตามสถานที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้าห้างสรรพสินค้า และศูนย์ราชการ โดยขณะนี้ได้ทำการทดลองสัญญาณที่สถานีรถไฟฟ้าไท่ผิงหยวน เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน พบว่ามีความเร็วของสัญญาณเฉลี่ย 700-800 เมกะบิตต่อวินาที ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ปล่อยสัญญาณ 5G ในสถานีรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ในเมืองเฉิงตู ยังมีตัวกระจายสัญญาณ 5G กว่า 3,000 จุดทั่วทั้งเมือง ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานจริงในช่วง 1-2 เดือนนี้ในจุดที่ให้บริการ

          นายนริศกล่าวว่า เทคโนโลยีที่น่าสนใจที่เหมาะสมจะปรับใช้ในไทย อาทิ ระบบรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ของประชากร เทคโนโลยีคำสั่งฉุกเฉิน เป็นอุปกรณ์ติดตั้งกล้องไว้บนหมวกของนักดับเพลิง เพื่อไว้จับภาพว่าตอนนี้ผู้ใส่เจอเหตุการณ์ใดอยู่เบื้องหน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่วางแผนช่วยเหลือได้ทันท่วงที เป็นต้น ในประเทศไทยตอนนี้อาจติดอยู่ในเรื่องของ ยูสเคสบางอย่างที่ยังไม่ตอบโจทย์ต่อสังคมมากนัก จึงทำให้การพัฒนามีความสะดุดเล็กน้อย แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ไทยน่าจะค่อยๆ พัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยมากขึ้น

          'ลาวโทรคม'ทดลองใช้5G

          นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท ลาว เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ลาวโทรคม) เป็นบริษัทที่ไทยคมร่วมบริหารงานเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและโทรคมนาคมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มีการเปิดตัวเทคโนโลยี 5G เป็นครั้งแรกในงานเปิดทดลองใช้ระบบ 5G ที่ทำการสำนักงานใหญ่ของลาวโทรคม ในเมืองเวียงจันทน์ อีกทั้งวางแผนขยายการให้บริการเทคโนโลยี 5G อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีและโซลูชั่นอื่นๆ ที่ต้องเชื่อมต่อและใช้งานผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้จำนวนมากพร้อมๆ กัน

          "ลาวโทรคมประสบความสำเร็จในการเปิดใช้เทคโนโลยี 5G เป็นรายแรกให้แก่ สปป.ลาว จึงทำให้คงความเป็นผู้นำในการนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยี 5G จะช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคมให้แก่ สปป.ลาว และลาวโทรคมยังมีพันธมิตรทั่วภูมิภาค จึงมีศักยภาพที่จะสามารถนำเสนอโซลูชั่นอินเตอร์ ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) สำหรับสมาร์ทฟาร์ม, สมาร์ทโฮม สมาร์ทซิตี้ และอื่นๆ ต่อไป" นายอนันต์กล่าว และว่า ปัจจุบันลาวโทรคมมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 50% โดยเป็นผู้นำเทคโนโลยี 4G เข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นรายที่สองที่นำเสนอการบริการเทคโนโลยี 4.5G ด้วย โดยมีผลประกอบการปี 2561 กว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ

          'ไทย-อียู'เริ่มถกเพิ่มความร่วมมือ

          น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-สหภาพยุโรป ร่วมกับนางเปลนา แปมปาโลนี อธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศของอียู (European External Action Service-EEAS) ณ กระทรวงการต่างประเทศ อียู ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยมีนายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ นายเปอค์กา ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ของไทยและอียูเข้าร่วม

          น.ส.บุษฎีกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-อียู ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียู และการลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement-PCA) หลังจากที่ประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม มีมติที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับไทยในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น

          น.ส.บุษฎีกล่าวว่า ไทยและอียูยังแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการเมืองและสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-อียูให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ความร่วมมือด้านความมั่นคง ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 และโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

          'อียู'ชมไทยแก้ปัญหา'ไอยูยู'

          "รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือผ่านกรอบการหารือไทย-อียู ในด้านต่างๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ด้านแรงงาน การบินพลเรือน และการเจรจาข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า ฝ่ายอียูได้แสดงความชื่นชมต่อความก้าวหน้าของไทยในการแก้ไขปัญหาไอยูยู การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ตลอดจนการป้องกันการค้ามนุษย์" น.ส.บุษฎีกล่าว

          โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบภูมิภาค โดยอียูแสดงความชื่นชมบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ความสัมพันธ์อาเซียนกับอียูแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดตั้งอาเซียน ไอยูยู เน็ตเวิร์ค (ASEAN IUU Network) ขณะที่ฝ่ายไทยเน้นส่งเสริมให้อียูเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค และสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogues)

          น.ส.บุษฎีกล่าวว่า นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นระหว่างประเทศ อาทิ การยึดมั่นต่อระบบพหุภาคี การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ และการส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบอย่างยั่งยืน โดยฝ่ายไทยได้ย้ำเจตนารมณ์ในการ ส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามกฎกติกาสากลระหว่างประเทศ
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ