คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน: ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ 15 ปี
Loading

คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน: ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ 15 ปี

วันที่ : 20 กันยายน 2562
สัปดาห์ที่ผ่านมามีงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมซบเซา มีปริมาณซัพพลายล้นเกินความต้องการ และ ดร.โสภณ พรโชคชัย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท จำกัด (AREA) ออกมาประกาศว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีบ้านว่าง 5 แสนกว่ายูนิต
            นาย ต.
            สัปดาห์ที่ผ่านมามีงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมซบเซา มีปริมาณซัพพลายล้นเกินความต้องการ และ ดร.โสภณ พรโชคชัย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท จำกัด (AREA) ออกมาประกาศว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีบ้านว่าง 5 แสนกว่ายูนิต
            ทำให้รู้สึกเหมือนดูหนังเรื่องเก่าในยุคปี 2540 ยังไงๆ พิกล วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ปี 2540 ธุรกิจอสังหาฯ เป็นหนึ่งในเชลยสำคัญที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชนวนเหตุสำคัญ หลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไป เศรษฐกิจฟื้นตัว รัฐบาลในเวลานั้นด้วยเงินช่วยเหลือของธนาคารโลกจึงก่อตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ขึ้นมาในปี 2547
            เพื่อเป็นหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์และเผยแพร่แก่หน่วยงานรัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาชน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
            ป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะการผลิตการสร้างแบบไร้ข้อมูล ไม่ลืมหูลืมตาซ้ำรอยวิกฤตในอดีต
            ที่ผ่านมา 15 ปี REIC ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร มีการสำรวจข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายภาคสนามทั่วประเทศรายปีและรายครึ่งปี มีการรวบรวมข้อมูลสำคัญของอสังหาริมทรัพย์จากแหล่งต่างๆ มาเผยแพร่ในรูปแบบเอกสารรายงาน รูปแบบการจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและธุรกิจเอกชน มีข้อมูลด้าน Supply ที่ครบและมีอัตราการขายหรือดูซับ (Absorb rate)
            ผลลัพธ์ต่อภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ทำให้ภาคเอกชนที่พัฒนาอสังหาฯเห็นทิศทางแนวโน้มของตลาดได้ดีขึ้นกว่าก่อนปี 2540 ทำให้มีการปรับตัวได้ดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการผลิตล้นเกินตลาด เพราะยังมีปัจจัยการตัดสินใจของธุรกิจเอกชน ความรวดเร็วของข้อมูล และอื่นๆ อีกหลายปัจจัย
บทบาทต่อไปของ REIC
            แน่นอนว่า REIC มีหน้าที่ต้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ และวิเคราะห์ละเอียดขึ้น รวดเร็วขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจนโยบายหรือมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับอสังหาฯ ได้ถูกต้องแม่นยำ สนับสนุนให้กระทรวงการคลังตัดสินใจมาตรการภาษีได้ถูกต้องเหมาะสม และให้ข้อมูลทิศทางตลาดอสังหาฯ ประเภทต่างๆ แก่ธุรกิจเอกชน เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
            เพื่อให้ทันยุคสมัยใหม่ REIC ต้องนำเทคโนโลยี Big data และ Machin learning มาใช้ในการรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์และพยากรณ์ให้รวดเร็วแม่นยำยิ่งขึ้น
            REIC จะต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องและวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลหรือความเห็นที่คลุมเครือแก่สาธารณะ อาทิ เรื่องบ้านว่าง 5 แสนกว่ายูนิตจากการสำรวจการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงที่ใช้เกณฑ์การใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 15 หน่วยต่อเดือนเป็นบ้านว่าง จะใช้อ้างอิงเป็นจำนวนที่อยู่อาศัยโอเวอร์ซัพพลายได้มากน้อยเพียงใด และตัวเลขโอเวอร์ซัพพลายห้องชุดที่แท้จริงประเมินได้อย่างไร มีจำนวนประมาณเท่าใด
เช่นนี้ REIC ก็จะเปรียบเสมือนหน่วยงานที่ทำหน้าที่ลดความเสี่ยงธุรกิจอสังหาฯ ในภาพรวม ซึ่งเป็นภาคธุรกิจสำคัญ เป็นการป้องกันความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ ไม่ต่างไปจากเครื่องบินรบ รถถัง ที่ไว้ใช้ป้องกันประเทศ
            REIC จึงควรเป็นหน่วยงานทางวิชาการ ที่มีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงหรือบทวิเคราะห์ที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ
            ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่นำมาฝากไว้และใช้เงินงบประมาณกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แต่ให้บริการข้อมูลฟรีกับหน่วยงานราชการต่างๆ และสาธารณะ ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับ ธอส. ขณะเดียวกัน REIC ก็เป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้มีข้อจำกัดในการแสดงบทบาทหน้าที่ไม่น้อย
            ให้งบฯ REIC ปีละ 100 ล้านบาทเพื่อป้องกันระเบิดฟองสบู่อสังหาฯ ที่ 10 ปี 20 ปีมีโอกาสเกิดขึ้นที ก็ยังคุ้ม เพราะถ้าเกิดจริงเสียหายกันนับแสนล้านบาท