สมาคมสินเชื่อบ้านหนุนใช้LTVต่อ กรองลูกค้าคุณภาพ-ลดยอดNPL
Loading

สมาคมสินเชื่อบ้านหนุนใช้LTVต่อ กรองลูกค้าคุณภาพ-ลดยอดNPL

วันที่ : 31 กรกฎาคม 2562
ส.สินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนใช้มาตรการ LTV หวังเพิ่มมาตรฐานระบบการเงินไทย กรองลูกค้าคุณภาพป้องกัน NPL พร้อมเตรียมจัดมหกรรมบ้านมือสองและสินเชื่อแห่งปี
           ส.สินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนใช้มาตรการ LTV หวังเพิ่มมาตรฐานระบบการเงินไทย กรองลูกค้าคุณภาพป้องกัน NPL พร้อมเตรียมจัดมหกรรมบ้านมือสองและสินเชื่อแห่งปี

          นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า การนำมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อว่าเป็นมาตรการที่ดีที่ควรใช้ควบคุมการปล่อย สินเชื่อของสถาบันการเงิน เพราะหนี้เสียหรือ NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นมิถุนายน 62 รวมอยู่ที่ระดับ 447,027% หรือ 3.11% และมี NPL สุทธิที่ 217,084 ล้านบาท หรือ 1.53% ซึ่งถือว่าสูงอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ที่ระดับที่ ไม่เกิน 1% เช่น ฮ่องกงและไต้หวัน 0.22% เกาหลีใต้ 0.1

          "ไทยเคยชินกับการมี NPL อยู่ในระดับสูงๆ มานาน ชินกับการกู้ซื้อบ้าน 100% ซึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่ดี ระบบการเงินมีความเสี่ยง ประชาชนควรมีการออมก่อนที่จะซื้อบ้าน การกู้เงินซื้อบ้านผู้กู้จะต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน ไม่ใช่เอาชื่อมาร่วมกู้ ซึ่งตอนผ่อนชำระจะทำให้เงินตึงมือจนอาจเป็นหนี้เสียได้"

          ทั้งนี้ การใช้มาตรการ LTV จะช่วยให้ระบบการเงินมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ความเสี่ยงน้อยลง เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรม การ เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจะช่วยคัดกรองให้สถาบันการเงินได้ลูกค้าที่ดีไม่เป็นหนี้เสียในอนาคต และยังกรองลูกค้าที่ขี้โกง ปกปิดข้อมูลที่แท้จริงเพื่อให้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ

          ด้านนายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย และผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ภาพรวมสินเชื่อในปีนี้ จะเติบโตได้ 4% โดยในไตรมาสแรกได้แรงบวกจากการเร่งโอนบ้านก่อนบังคับใช้มาตรการ LTV ทำให้การขอ สินเชื่อเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ไตรมาส 2 ปรับลดลงเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3 สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะกลับมาเติบโต จากการเร่งขายของผู้ประกอบการและเร่งปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เพื่อให้ตัวเลขผลประกอบการออกมาดี

          อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่เศรษฐกิจ ชะลอตัว ทำให้ธนาคารต้องพิจารณารายละเอียดลงลึกไปถึงธุรกิจ หรือบริษัทที่ลูกค้าทำงานมีความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนชำระยาว 20-30 ปี นอกจากนี้ ยังคาดว่า แนวโน้มบ้านมือสองจะมีเพิ่มมากขึ้นในตลาด โดยจะมาทั้งจากเจ้าของ นักลงทุนนำมาประกาศขาย รวมถึง NPA ของสถาบันการเงิน ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

          ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในทำเลกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2562 ว่า มีจำนวนรวมทั้งส้น 71,019 ยูนิต โดยมีสัดส่วนกว่า 59% เป็นบ้านสร้างใหม่ จำนวน 41,990 ยูนิต และอีกกว่า 41% เป็นบ้านมือสอง 29,029 ยูนิต สำหรับในปี 2561  มียอดโอนกรรมสิทธิ์รวม 196,630 ยูนิต มูลค่า 565,112 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตามในปี 2562 นี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ว่าจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 145,300-527,600 ยูนิต หรือมีมูลค่ารวม 431,900-527,900  ล้านบาท เทียบกับปี 2561 จำนวนยูนิต ลดลง 17.9% มูลค่าลดลง 15.1% โดยตลาดบ้านแนวราบมีอัตราการเติบโตได้ในทิศทางที่ดี ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV

          ทั้งนี้ ในเรื่องตลาดบ้านมือสองนั้น  ทางสมาคมฯเตรียมจัดงาน NPA Grand Sale & Home Loan 2019 มหกรรมบ้านมือสองและสินเชื่อแห่งปี ซึ่งจัดโดยสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-1 ก.ย. 2562 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี