บูมมิกซ์ยูส ธนบุรี-ศิริราช ผุดสถานีทำเลทองรถไฟฟ้า3สาย
Loading

บูมมิกซ์ยูส ธนบุรี-ศิริราช ผุดสถานีทำเลทองรถไฟฟ้า3สาย

วันที่ : 11 มีนาคม 2562
พลิกโฉมทำเลธนบุรี-ศิริราช รับรถไฟฟ้า 3 สี ผุดศูนย์กลางระบบราง-เวลเนสใหญ่สุด เปิดกรุ ที่รถไฟ 21 ไร่ ติดสถานีธนบุรี ดึงเอกชนสร้างมิกซ์ยูส 3.3 พันล้าน ลงทุนห้าง-บัดเจตโฮเทล ศูนย์พักฟื้นสุขภาพ อพาร์ตเมนต์ รองรับกลุ่มแพทย์ ญาติผู้ป่วย ผู้สูงวัย "เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-ทีซีซี-ทุนโรงพยาบาล" เล็งปักหมุด ปิยะเวทมาแบบข้ามห้วย
          พลิกโฉมทำเลธนบุรี-ศิริราช รับรถไฟฟ้า 3 สี ผุดศูนย์กลางระบบราง-เวลเนสใหญ่สุด เปิดกรุ ที่รถไฟ 21 ไร่ ติดสถานีธนบุรี ดึงเอกชนสร้างมิกซ์ยูส 3.3 พันล้าน ลงทุนห้าง-บัดเจตโฮเทล ศูนย์พักฟื้นสุขภาพ อพาร์ตเมนต์ รองรับกลุ่มแพทย์ ญาติผู้ป่วย ผู้สูงวัย
"เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-ทีซีซี-ทุนโรงพยาบาล" เล็งปักหมุด ปิยะเวทมาแบบข้ามห้วย

          เดอะมอลล์-ทีซีซี-ทุนโรงพยาบาล" เล็งปักหมุด ปิยะเวทมาแบบข้ามห้วย

          นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.จะนำที่ดินย่านสถานีธนบุรี เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 120 ไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์หารายได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้น ตาม พ.ร.บ.การให้ เอกชนร่วมลงทุนฯ 2556 จะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นจะดำเนินการตาม ขั้นตอนเพื่อเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 34 ปี แยกเป็น ก่อสร้าง 4 ปี และจัดหาประโยชน์ 30 ปี

          ดึงเอกชนผุดมิกซ์ยูสสถานีธนบุรี

          โดย ร.ฟ.ท.จะได้ผลตอบแทนตลอดอายุสัญญาคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 992 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการเช่า 20% จำนวน 198 ล้านบาท ค่าเช่ารายปีเริ่มต้น 32 ล้านบาท ปรับขึ้นค่าเช่าทุก ๆ ปี ปีละ 5% รวมค่าเช่าตลอดสัญญา 30 ปี อยู่ที่ 2,439 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จจะมีรายได้รวม 2,638 ล้านบาท

          "ที่ดินจะพัฒนาปัจจุบันเป็นบ้านพักพนักงานรถไฟ จำนวน 305 ครัวเรือน แต่เพราะอยู่ในทำเลมีศักยภาพและเป็นสถานีจอดรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สร้างวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา อยู่ใกล้โรงพยาบาลศิริราช ชุมชน น่าจะเป็นทำเลที่จูงใจให้เอกชนมาลงทุนพัฒนาโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส ศูนย์กลางด้านสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล หรือ health & wellness hub มูลค่าโครงการ 3,369 ล้านบาท ตั้งเป้าจะให้เสร็จในปี 2565 พร้อมรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา เปิดให้บริการ"

          พัฒนา 4 โซนฮับเวลเนส

          นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า รูปแบบการพัฒนาทางบริษัทที่ปรึกษาออกแบบพื้นที่ 21 ไร่ แบ่งพัฒนา 4 โซน มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 110,458 ตร.ม. ประกอบด้วย 1.โซนโรงแรมและรีเทล พื้นที่ 6 ไร่ เงินลงทุน 1,309 ล้านบาท พื้นที่ก่อสร้าง 40,360 ตร.ม. พัฒนาเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว หรือบัดเจตโฮเทล สูง 13 ชั้น จำนวน 720 ห้อง ที่จอดรถ 501 คัน และด้านหน้าสร้างมอลล์สูง 3 ชั้น พื้นที่ 10,000 ตร.ม. รองรับญาติผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาล ธนบุรี จำนวน 8,000-10,000 คน ค่าห้องไม่เกิน 1,000 บาท/คืน

          2.โซนศูนย์พักฟี้นสุขภาพ พื้นที่ 4 ไร่ เงินลงทุน 879 ล้านบาท พื้นที่ก่อสร้าง 21,096 ตร.ม. เป็นอาคารสูง 13 ชั้น จำนวน 280 ห้อง ขนาดห้อง 35-52 ตร.ม. ที่จอดรถ 232 คัน รองรับผู้ป่วยพักฟี้นและดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี ค่าห้องประมาณ 40,000-60,000 บาท/เดือน

          3.โซนเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และที่อยู่สำหรับผู้สูงวัย พื้นที่ 3 ไร่ เงินลงทุน 754 ล้านบาท พื้นที่ก่อสร้าง 22,108 ตร.ม. เป็นอาคารสูง 13 ชั้น จำนวน 300 ห้อง ที่จอดรถ 235 คัน รองรับกลุ่มแพทย์ และผู้สูงวัยในย่านฝั่งธนบุรี ค่าเช่า 30,000-50,000 บาท/เดือน 

          และ 4.โซนบ้านพักพนักงานรถไฟ พื้นที่ 6 ไร่ ซึ่งเอกชนจะรับภาระการลงทุน 425 ล้านบาท สร้างที่พักอาศัยรูปแบบตึกสูง 13 ชั้น จำนวน 315 ห้อง ขนาดห้อง 35-50 ตร.ม. ทดแทนจากเดิมเป็นบ้านพักแนวราบ พร้อมที่จอดรถ 265 คัน ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะหักเงินลงทุนจากผลตอบแทนที่ ร.ฟ.ท.จะได้คืนให้เอกชนเป็นการทดแทน

          ศิริราช-ธนบุรีฮับเดินทางใหญ่สุด

          นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการโครงการ เปิดเผยว่า ที่ดิน 21 ไร่ ย่านสถานีรถไฟธนบุรี มีความเหมาะสมจะพัฒนาเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล เช่น ศูนย์พักฟี้น โรงแรม ที่พักอาศัย รีเทล เพราะเทรนด์ตลาดที่พักผู้สูงวัยและ เทรนด์ดูแลสุขภาพจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมาย จะเป็นแพทย์ เจ้าหน้าที่ และญาติผู้ป่วย โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และโรงพยาบาลธนบุรี ยังไม่นับรวมประชาชนทั่วไปในรัศมี 5 กม.จากสถานีธนบุรี ที่มีประชากรอยู่อาศัยกว่า 2 แสนคน

          "ราคาที่ดินย่านสถานีธนบุรีปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 220,000 บาท/ตร.ว. รวม 21 ไร่ คิดเป็นต้นทุนที่ดิน 1,836 ล้านบาท ในอนาคตคาดว่าจะปรับขึ้นอีกอาจจะถึง 500,000 บาท/ตร.ว."

          เนื่องจากในอนาคตย่านนี้จะเป็นการศูนย์กลางการเดินทางด้านระบบรางและธุรกิจเวลเนสที่ใหญ่ที่สุดของฝั่งธนบุรี จากการเปิดบริการรถไฟฟ้า 3 สายทาง โดยสายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชันศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช เปิดในปี 2565-2566 จะเป็นเส้นทางหลักเชื่อมกับสถานีบางขุนนนท์ และสถานีอิสรภาพของสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค จะทยอยเปิดในปี 2562-2563 และสถานีศิริราชของสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ จะเปิด ในปี 2566

          "ดีมานด์ย่านฝั่งธนบุรีมีศักยภาพมากสำหรับเทรนด์ธุรกิจนี้ จะมีโรงพยาบาลใหม่เพิ่ม 2 แห่ง จากเดิมจะมีโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี และจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนมีหลายรายสนใจ เช่น เซ็นทรัลพัฒนา เดอะมอลล์ กลุ่มทีซีซีแลนด์ กลุ่ม โรงพยาบาลธนบุรี ให้ความสนใจธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล บริการทาง การแพทย์เพื่อการฟี้นฟู กลุ่มโรงพยาบาลปิยะเวทให้ความสนใจรูปแบบเนิร์สซิ่งโฮม ลองสเตย์และเวลเนส เป็นต้น"

          คุมตึกสูงไม่เกิน 40 เมตร

          นายวสันต์กล่าวอีกว่า ขณะที่การ พัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงจะไม่คึกคัก มากนัก เนื่องจากมีข้อบัญญัติกรุงเทพ มหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงใช้ หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภท บริเวณโดยรอบสะพานพระราม 8 ในพื้นที่บางยี่ขัน บางพลัด อรุณอมรินทร์ ศิริราช บางกอกน้อย ทำให้สร้างตึกสูงได้ไม่เกิน 40 เมตร (13 ชั้น) และพื้นที่ถัดออกไปส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทเกษตรกรรม) จะพัฒนาได้เฉพาะบ้านเดี่ยว

          "ทำเลย่านศิริราชและธนบุรี เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงสร้างเสร็จ จะเป็นการพลิกโฉมด้านการเดินทางให้มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น รองรับผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลและนักท่องเที่ยว มากกว่าจะเป็นทำเลด้านการอยู่อาศัย โดยมีสายสีน้ำเงินต่อขยายและสีส้มเป็นฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารให้ทั้งสถานีธนบุรีและศิริราช"

          ปิยะเวทปักหมุดวังหลัง-ปิ่นเกล้า

          นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลปิยะเวท เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มีแผนจะลงทุนสร้างโรงพยาบาล 2 แห่งในฝั่งธนบุรี ในปี 2563 จะนำที่ดิน 6 ไร่ อยู่บนถนนวังหลัง ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีน้ำเงิน พัฒนาเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 40 เตียง ลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท

          และปี 2564 จะนำที่ดิน 6 ไร่ เยื้องกับพาต้าปิ่นเกล้า มาพัฒนาเป็นโรงพยาบาล อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด คาดว่า จะเป็นขนาด 400 เตียง เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสนใจจะลงทุนพัฒนาย่านสถานีธนบุรี เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงการใหม่ที่อยู่ใกล้กัน

          ศิริราชลงทุนเพิ่ม 2 พันล้าน

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่สนใจลงทุนย่านฝั่งธนบุรี ทางโรงพยาบาลศิริราชก็มีแผนจะลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ โดยเมื่อปี 2560 ได้หารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม จะขอใช้พื้นที่เหนือสถานีศิริราช เป็น 1 ในสถานีของสายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ก่อสร้างอาคารหลังใหม่ เป็นอาคารสูง 12 ชั้น ค่าก่อสร้างประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล

          ความคืบหน้าล่าสุด นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า อยู่ระหว่างหารือและพิจารณาแบบรายละเอียดร่วมกัน ยังไม่ได้ข้อยุติ คาดว่าจะสรุปในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ต้องเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงต่อขยาย ที่ ครม.อนุมัติทั้งหมดให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2562 วงเงินรวม 23,417 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท เพื่อเริ่มเดินหน้าก่อสร้างให้ทันปีนี้ ใช้เวลาสร้าง 5 ปี มีกำหนดเสร็จปี 2565-2566
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ