รฟม.หั่นรถไฟฟ้าสีส้ม'ศูนย์วัฒนฯ-บางขุนนนท์'เล็งประมูลกลางปี
บอร์ด รฟม.ยึดปรัชญาในหลวง หั่นจุดสิ้นสุดรถไฟฟ้าส้มตะวันตกเหลือ "ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์" แก้ทับซ้อนสายสีแดง "ตลิ่งชัน-ศิริราชศาลายา" เสนอ คจร.ไฟเขียวเดือนนี้ ดีเดย์กลางปี'60 เปิดประมูลก่อสร้าง 9 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งประเมินการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเพื่อแก้การจราจรโดยรอบพื้นที่ศิริราชและฝั่งธนบุรี ระหว่างสาย สีแดงอ่อนส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชและตลิ่งชัน-ศาลายา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระยะทาง 20 กม. เงินลงทุน 19,042 ล้านบาท กับสายสีส้ม ตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กม. เงินลงทุน 85,288 ล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เนื่องจากแนวเส้นทางทับซ้อนกันอยู่ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช
"สายสีแดงที่ไปศิริราชเป็นพระราชดำริของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตอนที่ท่านประทับที่ศิริราชมีพระราชดำริ ให้นักเรียนแพทย์ต้องอยู่ชานเมือง เดินทางยังไง ซึ่งการรถไฟฯออกแบบตัวสายสีแดงสถานีศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ตอนแรกเพื่อรองรับศูนย์กลางการแพทย์ ตรงนี้ตอบสนองกับประชาชน นักศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์ มีชาวบ้านที่เชื่อมต่อชานเมืองได้ไปถึงศาลายาต่อเชื่อมไปนครปฐม แต่ตอนหลัง รฟม.ออกแบบสายสีส้มเพื่อลอดแม่น้ำเจ้าพระยาและไปถึงตลิ่งชัน ก็มี 2 แนวคิด 1.จะเลือกสร้างโครงการใดโครงการหนึ่ง และ 2. ถ้าใช้งบประมาณลงทุนไม่มากจะสร้างทั้ง 2 โครงการ"
ล่าสุด นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการ (บอร์ด) วันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมาให้ชะลอการก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกศูนย์วัฒนธรรมตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 123,354 ล้านบาท ถึงแค่บางขุนนนท์ รวมระยะทาง 12.9 กม. วงเงิน 111,186 ล้านบาท ประหยัด ค่าก่อสร้างประมาณ 7,000 ล้านบาท จาก 97,271 ล้านบาทเหลือ 90,271 ล้านบาท เนื่องจากช่วงบางขุนนนท์-ตลิ่งชัน มีพื้นที่ทับซ้อนกับสายสีแดงตลิ่งชัน-ศิริราช มีระยะทาง 5.8 กม.
"แผนที่จะทำไปจนถึงตลิ่งชันคงชะลอไว้ก่อน รอประเมินผู้โดยสารจากการเปิดสายสีแดงด้วย หากมีความต้องการมาก ก็อาจจะทำเพิ่ม โดยจะเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ภายในเดือน ม.ค.นี้ จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติไม่เกินเดือน เม.ย. เปิดประมูล ก.ค.ปี'60"
นายพีระยุทธกล่าวว่า ตามแผนจะออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินประมาณ เม.ย.-มิ.ย. 2560 จัดกรรมสิทธิ์และส่งมอบพื้นที่ ก.ค.-ส.ค. 2563 เริ่มก่อสร้างและทดสอบระบบรถไฟฟ้า มิ.ย. 2561 และเปิดเดินรถ มี.ค. 2567
สำหรับงานโยธา ออกแบบเป็นโครงสร้างใต้ดิน ช่วงปิ่นเกล้า-ศิริราช ซึ่ง รฟม.มีประสบการณ์เจาะอุโมงค์จากสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพงบางแค คิดว่ามี ความพร้อม ส่วนพื้นที่เคาะแผนที่ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ อยู่ในระหว่างพิจารณาของ คณะกรรมการในประเด็นปรับทางขึ้น-ลงสถานี
ขณะที่การเดินรถของสายสีส้มตะวันตกยังคงศึกษา PPP คู่ขนานไปกับสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เพื่อให้การเดินรถ ต่อเชื่อมด้วยเอกชนรายเดียว จะไม่ให้เกิดการ ขาดช่วงเหมือนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยาย ที่ขาดช่วง 1 สถานีจากเตาปูน-บางซื่อ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ