คอลัมน์ ลัดรั้วเขต ศก.พิเศษ: ม.44ปลดล็อกเขตศก.พิเศษ 'กาญจน์-นครพนม'รับลงทุน
Loading

คอลัมน์ ลัดรั้วเขต ศก.พิเศษ: ม.44ปลดล็อกเขตศก.พิเศษ 'กาญจน์-นครพนม'รับลงทุน

วันที่ : 13 มกราคม 2560
คอลัมน์ ลัดรั้วเขต ศก.พิเศษ: ม.44ปลดล็อกเขตศก.พิเศษ 'กาญจน์-นครพนม'รับลงทุน

ทีมเศรษฐกิจ

ปัญหา? การจัดหาที่ดินรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 พื้นที่รอบประเทศไทย ยังเป็นการบ้านสำคัญ.ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะการขอคืนที่ดินจากเจ้าของเพื่อนำมาแต่งตัวรองรับการลงทุน.ซึ่งที่ผ่านมารัฐได้ขอคืนที่ดินไปแล้วหลายพื้นที่  โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ กับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่

 

ล่าสุด.เพื่อเติมเต็มให้หลาย ๆ เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีความพร้อมมากขึ้นอีก "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ปลดล็อกพื้นที่เพิ่มเติมอีก 2 จังหวัด คือ กาญจนบุรี และนครพนม เพราะทั้งคู่ต่างมีความสำคัญกับ "การค้าชายแดน" ที่เติบโตต่อเนื่องทุกปี และเป็น "จุดยุทธศาสตร์" ในการขยายการลงทุนของเอกชนเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน

จุดยุทธศาสตร์สำคัญ

ตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. ได้ระบุถึงความจำเป็นของการใช้ยาวิเศษสารพัดนึกที่ออกมา หลังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ กนพ. ได้จัดหาพื้นที่เพิ่มเติมในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และนครพนม ที่มีความพร้อมปรับปรุงให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเสร็จสิ้น เพื่อผลักดันให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นโดยเร็วตามยุทธศาสตร์ที่ 5 นั่นคือ การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นที่มีศักยภาพ โดยมุ่งปั้นพื้นที่ชายแดนทั้ง 2 แห่ง หวังให้เดินตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวจนเกิดผลโดยเร็ว

"จังหวัดนครพนม" รัฐได้ใช้ ม.44 ในพื้นที่ ตำบลอาจสามารถ  อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม โดยถอนสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ขณะที่ "จังหวัดกาญจนบุรี" อยู่ในพื้นที่ ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ให้มีผลเป็นการถอนการสงวนหวงห้ามที่ดินตาม "พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน ในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี, อำเภอวังขนาย, อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2481" เพื่อให้เติมเต็มเขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 2 จังหวัด สมบูรณ์มากขึ้น

"พล.ท.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด" โฆษกรัฐบาล ยอมรับว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ครั้งนี้ ที่ผ่านมาส่วนราชการที่ดูแลรับผิดชอบได้ลงพื้นที่แล้ว และเห็นว่าสมควรจัดหาที่ดินเพิ่มเติม โดยถ้าการจัดหาที่ดินดังกล่าว มีผลกระทบกับประชาชน รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือในขั้นต่อไป

พร้อมพัฒนาเต็มที่

สำหรับ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดเตรียมพื้นที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หรือ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์จำนวน 2,400 ไร่ เป็นพื้นที่ให้เอกชนเช่าพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรม  ซึ่งมอบให้ "กรมธนารักษ์"  ดูแลในพื้นที่ 2 อำเภอ 13 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 744.79 ตารางกิโลเมตร หรือ 465,493.75 ไร่ ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครพนม 10 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 554.58 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ ตำบลกุรุคุ ตำบลท่าค้อ ตำบล นาทราย ตำบลนาราชควาย ตำบลในเมือง ตำบลบ้านผึ้ง ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลหนองญาติ ตำบลหนองแสง และตำบลอาจสามารถ อำเภอท่าอุเทน 3 ตำบล ครอบคลุม พื้นที่ 190.21 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ ตำบลโนนตาล ตำบลรามราช และตำบลเวินพระบาท

ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี ตั้งอยู่บนตำบลบ้านเก่า บริเวณด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยทางกองทัพบกได้มอบพื้นที่ที่เคยดูแลในด้านความมั่นคงให้ทางจังหวัดกาญจนบุรี นำมาพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน ประมาณ 8,000 ไร่ ซึ่งในแบบผังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน แบ่งเป็น 4 โซน คือ พื้นที่ศุลกากร จำนวน 1,000 ไร่ พื้นที่จัดสร้างศูนย์ราชการ 3,000 ไร่ พื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม 3,000 ไร่ และพื้นที่ชุมชนประกอบธุรกิจ จำนวน 1,400 ไร่

นครพนม-ฮับขนส่ง

สำหรับการผลักดันพื้นที่เพิ่มเติมมารองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางจังหวัดนครพนม จัดเป็นเมืองสำคัญริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพ และเป็นจังหวัดศูนย์กลางการขนส่งสินค้าแห่งอินโดจีน เพราะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างไทย สปป.ลาว เวียดนาม ไปจนถึงจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นที่สุดเพียง 1,029 กิโลเมตรเท่านั้น โดยใช้สะพานมิตรภาพ แห่งที่ 3 และจังหวัดยังได้ก่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์ไว้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์การส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าชายแดนใกล้กับสะพานมิตรภาพ

ขณะเดียวกัน ยังสามารถผลักดันให้เป็นเมืองผลิตอาหารปลอดภัย และอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร และยังเหมาะเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน และศูนย์ฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นอุตสาหกรรมการบิน เพื่อรองรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ใช้เป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยาน นอกจากนี้จังหวัดนครพนมยังมีวิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม ที่สามารถผลิตนักบินที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดได้ ซึ่งช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยต่อไปในอนาคต

กาญจน์-เชื่อมทวาย

ขณะที่จังหวัดกาญจนบุรี มีความโดดเด่น เพราะมีพื้นที่เป็นประตูเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในประเทศเมียนมา ที่เป็นเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ของกลุ่มประเทศฝั่งอินโดจีน รองรับการลงทุน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังอาจผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตกในด้านใต้ โดยก่อนหน้านี้มีการศึกษาและวางผังเมืองบริเวณบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า และในตำบลแก่งเสี้ยน เพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน โดยภาครัฐได้เตรียมความพร้อมสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรีไว้รองรับการขนส่งเรียบร้อยแล้ว

แต่...การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 2 จังหวัดนี้ ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างจริงจัง คงต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยว ข้อง ที่ต้องจริงจังและจริงใจในการขับเคลื่อนสารพัดโครงการให้ออกมาโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล!!!.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ