สคร.เสนอบอร์ดพีพีพีอนุมัติ 12 โครงการ ดึงเอกชนลงทุน7.2แสนล้าน
Loading

สคร.เสนอบอร์ดพีพีพีอนุมัติ 12 โครงการ ดึงเอกชนลงทุน7.2แสนล้าน

วันที่ : 14 มกราคม 2560
สคร.เสนอบอร์ดพีพีพีอนุมัติ 12 โครงการ ดึงเอกชนลงทุน7.2แสนล้าน

คลังชงครม.ต่ออายุมาตรการ ภาษีลงทุนภาคเอกชน 1 ปีหวังช่วยผลักดันจีดีพีโต 4%

สคร.เสนอบอร์ดพีพีพีอนุมัติ 12 โครงการเปิดเอกชนร่วมลงทุน มูลค่ากว่า 7.2  แสนล้าน ภายในปีนี้ พร้อมแยก 2 กลุ่มโครงการ ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เผยส่วนใหญ่ เป็นโครงการของ รฟม.-รฟท.และกรมทางหลวง ชง ครม.ต่ออายุมาตรการภาษีสนับสนุน การลงทุนเอกชนอีก 1 ปี แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชน ร่วมลงทุนในการกิจการของรัฐ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีมองว่าตอนนี้ประเทศไทย มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ จึงอยากจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐเพื่อลดภาระ ทางการคลัง และยังเป็นแรงขับเคลื่อน การลงทุนภาครัฐให้ขยายตัวต่อเนื่อง

นายชาญวิทย์  นาคบุรี  รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ สคร.เตรียมที่จะเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ  หรือบอร์ดพีพีพี มีนายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  พิจารณาอนุมัติโครงการร่วมลงทุนรวม 12 โครงการ มูลค่าลงทุน กว่า 7.21  แสนล้านบาท  โดยมูลค่าลงทุนดังกล่าวเป็นมูลค่าโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชนที่สูงที่สุด เท่าที่เคยใช้กฎหมายร่วมทุนมาตั้งแต่ปี 2535 หลังจากที่บอร์ดพีพีพี  เห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี ( ครม.)อนุมัติ จากนั้นก็จะเริ่มต้นขั้นตอนของการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุนต่อไป

แบ่ง 2 กลุ่มดึงเอกชนร่วมลงทุน

โครงการร่วมทุนทั้ง 12 โครงการ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ 5 โครงการ รวมมูลค่า 9.14 พันล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา(ที่พักริมทาง) ของกรมทางหลวง มูลค่า 965  ล้านบาท โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (ที่พักริมทาง) ของกรมทางหลวง มูลค่า 1.05  พันล้านบาท

โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย  ของกรมการขนส่งทางบกมูลค่า 3.34 พันล้านบาท  โครงการศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดน จังหวัดนครพนม ของกรมการขนส่งทางบก มูลค่า1.52 พันล้านบาท  และโครงการก่อสร้าง ระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 ของเทศบาลนครราชสีมา  มูลค่า 2.25 พันล้านบาท

ดันโครงการ5พันล้านเข้าพีพีพี

ส่วนอีกกลุ่มเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไป มีทั้งหมด 7 โครงการ มีมูลค่ารวม 7.12 แสนล้านบาท ประกอบด้วย1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก  ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ของ รฟม. มูลค่าโครงการ 8.53 หมื่นล้านบาท      3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก ของ รฟม มูลค่า 1.31  แสนล้านบาท 4.โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ของ ร.ฟ.ท. มูลค่าโครงการ4.18 หมื่นล้านบาท 5.โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กทม.-ระยอง ของ ร.ฟ.ท. มูลค่าโครงการ 1.52 แสนล้านบาท 6.โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกทม.-หัวหิน ของการรถไฟ แห่งประเทศไทย ( ร.ฟ.ท.) มูลค่าโครงการ 1.11  แสนล้านบาท และ7.โครงการ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐมชะอำ ของกรมทางหลวง มูลค่าโครงการ 8 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โครงการพีพีพีดังกล่าว ยังไม่รวมถึงโครงการพัฒนาที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ  เพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ พื้นที่แปลง A มูลค่า 1.54 หมื่นล้านบาท ซึ่งทางร.ฟ.ท. ได้เสนอให้ สคร. พิจารณาแล้ว  เมื่อเดือนต.ค.2559

ทั้งนี้ในปี 2559  มีโครงการร่วมทุน  ที่ได้ผ่านการอนุมัติของบอร์ดพีพีพี แล้ว 5 โครงการ มีมูลค่ารวม 3.34 แสนล้านบาท มีสองโครงการได้ผ่านการอนุมัติ  จาก ครม.แล้ว คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่า 5.46 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู  ช่วงแคราย -มีนบุรี มูลค่าโครงการ 5.66 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการได้บริษัทเอกชน  ที่ชนะการประมูลแล้ว

"อภิศักดิ์"ชงครม.ต่ออายุลงทุนอีก 1 ปี

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาต่ออายุมาตรการสนับสนุนการลงทุนเอกชนไปอีก 1 ปี ซึ่งมาตรการ ดังกล่าวได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่  31 ธ.ค. 2559 เดิมกระทรวงการคลังไม่มีแนวคิดจะต่ออายุให้  แต่เมื่อภาคเอกชนยืนยันว่าจะมีการลงทุนในปี2560 ก็พร้อมที่จะสนับสนุน  แต่การต่ออายุครั้งนี้จะมีเงื่อนไขบางอย่าง คงไม่ให้ทั้งหมดอย่างในช่วงแรก

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างเร่งสรุปแนวทางสนับสนุนให้เอกชนลงทุน เพื่อเสนอครม.ภายในเดือนนี้ ขณะนี้กำลังพิจารณาเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น ให้มีการลงทุนในปี 2560 ไม่น้อยกว่าปี  2559 หรือการลงทุนครั้งล่าสุด

สำหรับมาตรการภาษี คงจะเหมือนกับที่เคยให้ไปก่อนหน้านี้ คือ  ให้หักรายจ่าย เป็นจำนวน 2  เท่าของรายจ่ายเพื่อการลงทุน โดยจัดทำเป็นแผนงานหรือโครงการการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ เช่น เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์  ยานพาหนะ อาคารถาวร (ไม่รวมที่ดิน และไม่รวมถึงอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย)  และต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายถึงวันที่ 31 ธ.ค.2560

หวังแรงกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้

การใช้สิทธิดังกล่าวต้องปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ  และเงื่อนไข ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด  การหักค่าใช้จ่าย จะต้องหักรายจ่ายลงทุนในจำนวนที่เท่ากันตามรอบระยะเวลาบัญชีที่กฎหมาย กำหนดให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาและให้เริ่มใช้สิทธินับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

"คาดว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมในปีนี้  ซึ่งรัฐต้องการให้การลงทุนเอกชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตให้ถึง 4% เพราะการลงทุนภาครัฐทำเต็มที่แล้ว"แหล่งข่าว กล่าว   ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเปิดให้หัก ค่าเสื่อมราคาได้ 2 เท่า ในปี 2559  สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2559  ได้แก่เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์  ยานพาหนะ และอาคารถาวร ไม่รวมที่ดิน  และอาคารที่ถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ