เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การลงทุนยังไม่คึกคัก
Loading

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การลงทุนยังไม่คึกคัก

วันที่ : 17 มกราคม 2560
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การลงทุนยังไม่คึกคัก

ปราณี หมื่นแผงวารี

ณัฐณิชา ดอนสุวรรณ

"นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชายแดน" เป็นงานแรกๆที่คณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) เร่งผลักดันทันทีที่เข้ามา บริหารประเทศ เพราะต้องการปักหมุดการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่กำลังอยู่ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจโลกซวนเซ ให้มีการ ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2557 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานให้ความ เห็นชอบพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะแรกของไทยใน 5 พื้นที่ชายแดน ประกอบด้วย 1.แม่สอด 2.สระแก้ว (อรัญประเทศ) 3.ตราด 4.มุกดาหาร 5.สงขลา (ศุลกากรสะเดา และปาดังเบซาร์)

นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุน 2.การให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ 3.มาตรการ สนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว และ 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมในพื้นที่ เขตเศรษฐกิจและเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เป็นเวลา เกือบ 3 ปีของการดำเนินนโยบายนี้ ประสบผลสำเร็จมากน้อยอย่างไร ข้อมูลการจดทะเบียนเพื่อเข้าไปทำธุรกิจ ในพื้นที่น่าจะช่วยประเมินทิศทางของนโยบายได้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ได้เปิดเผยข้อมูลธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทั้ง 5 พื้นที่ พบว่าพื้นที่ จ.สงขลา ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจล่าสุด ณ วันที่ 19 ธ.ค. 2559  สะสมตั้งแต่ปี 2557  จำนวน 412 ราย ทุนจดทะเบียน 5,149 ล้านบาท 93.4%  เป็นธุรกิจขนาดเล็ก แบ่งประเภทธุรกิจสูงสุด ได้แก่ ตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร  โรงแรม รีสอร์ท

ส่วนการลงทุนต่างชาติ ในพื้นที่ฯ มูลค่า 1,283 ล้านบาท สัดส่วน 25% ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย มูลค่า 1,279 ล้านบาท  สัดส่วน 99.7%

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก จำนวน 1,313 ราย ทุนจดทะเบียน 4,657 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอแม่สอด 1,188 ราย มูลค่า 4.4 พันล้านบาท  98.6% เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ประเภทธุรกิจสูงสุดได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป ขายส่งสินค้าทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ ขายส่งข้าวเปลือก และธัญพืช ส่วนการลงทุนของต่างชาติ มีสัดส่วน 12% มูลค่า 555 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจาก ไต้หวัน  ฮ่องกง  และญี่ปุ่น ประเภทธุรกิจที่ต่างชาติลงทุนสูงสุดได้แก่ผลิตเครื่องจักร ผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตชุดชั้นในและชุดนอน

"เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก มีพื้นที่เชื่อมไปยังกรุงย่างกุ้งของเมียนมาและสามารถเชื่อมไปยังอินเดียและจีนตอนใต้ ขณะเดียวกันในพื้นที่เชื่อมกับฝั่งเมียนมามีแรงงานจำนวนมากสามารถรองรับการพัฒนาที่เชื่อมกับพื้นที่ภายในเขตเศรษฐกิจได้"

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร มีการจดทะเบียนในพื้นที่ 701 ราย ทุนจดทะเบียน 3,938 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมืองมุกดาหาร มูลค่า 3.8 พันล้านบาท 98% เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ขายปลีกวัสดุก่อสร้าง ขายส่งสินค้าทั่วไป ขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ การลงทุนของต่างชาติ มีสัดส่วน 1% มูลค่า 34 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย 9 ล้านบาท จีน 8 ล้านบาท และลาว 5 ล้านบาท การลงทุนของต่างชาติส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ท

"มุกดาหารเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งสินค้า เช่น เครื่องดื่ม ผลไม้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ สามารถร่วมดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมผลิตร่วมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ของ สปป.ลาว ได้"

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว จำนวน 131 ราย ทุนจดทะเบียน 933 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภออรัญประเทศ และ 97% เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ประเภทธุรกิจ ส่วนใหญ่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมา คือ ขายส่งสินค้าทั่วไป ส่วนต่างชาติในพื้นที่ สัดส่วน เพียง 2% มูลค่า 19 ล้านบาท ส่วนใหญ่คือจีนและกัมพูชา

"อยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เป็นช่องทางสำคัญในการขนสินค้าไปยังพนมเปญและเวียดนามตอนใต้ รวมทั้งสามารถร่วมดำเนินกิจการในลักษณะร่วมผลิตกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต-โอเนียง ของกัมพูชาได้"

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด จำนวน102 ราย รวมทุนจดทะเบียน 338 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ที่ ต.คลองใหญ่ และ 96% เป็นธุรกิจขนาดเล็กไม่มีธุรกิจขนาดใหญ่ ประเภทธุรกิจมีจำนวนมากที่สุดได้แก่ ขายปลีกวัสดุก่อสร้าง ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและตัวแทนของ ขายส่งสินค้าทั่วไป  ส่วนการลงทุนของต่างชาติ คิดเป็น 7% มูลค่า 22 ล้านบาท จากฝรั่งเศส อินเดีย และกัมพูชา ดำเนินธุรกิจ โรงแรมและรีสอร์ท ขายปลีกวัสดุก่อสร้าง และขายปลีกเสื้อผ้า  "ตราดเป็นประตูการค้าชายแดนมีด่านการค้าบ้านหาดเล็กรองรับ การพัฒนา มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กระจายสินค้า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สามารถเชื่อมโยงกับ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง ของกัมพูชาได้"

นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การขับเคลื่อน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ในปี 2560 จะเห็นภาพการลงทุนที่ชัดเจนขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว หลังจาก ที่เริ่มแผนการตลาดอย่างจริงจังในเดือนมี.ค.ปี2560  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมรองรับการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งปี2560จะมีการก่อสร้างอาคาร 5 ยูนิต 3 หลัง ลานกิจกรรม และสำนักงานขาย พร้อมเร่งปรับพื้นที่ จัดสรรที่ดิน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น หลังเห็นความชัดเจนในพื้นที่

"ยอมรับว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นโปรโมทพื้นที่ แต่ในเดือน มี.ค.ปี 2560 จะมีแผนการตลาดที่ชัดเจน ประกอบกับ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนประกาศใช้ในช่วงเดือน เม.ย.ปี 2560 จะเอื้อต่อการลงทุน มากขึ้น"       ส่วนการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก และเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดาจ.สงขลา ยังอยู่ระหว่างรอกรมธนารักษ์ ส่งมอบพื้นที่ ให้ กนอ. ซึ่งคาดว่าในส่วนของสะเดา จะสามารถ ส่งมอบพื้นที่ได้ก่อนจากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดย 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ มีพื้นที่ 2,600 ไร่ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมบริการมากกว่าการผลิต

"พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนประกาศใช้ช่วง เม.ย.จะเอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น'

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ