รฟม.ปรับลดเป้าตัวเลขผู้โดยสารสีม่วงใต้ สศช.ติงประเมินสูงหวั่นซ้ำรอยสายบางใหญ่
Loading

รฟม.ปรับลดเป้าตัวเลขผู้โดยสารสีม่วงใต้ สศช.ติงประเมินสูงหวั่นซ้ำรอยสายบางใหญ่

วันที่ : 23 มกราคม 2560
รฟม.ปรับลดเป้าตัวเลขผู้โดยสารสีม่วงใต้ สศช.ติงประเมินสูงหวั่นซ้ำรอยสายบางใหญ่

รฟม.ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ ผู้โดยสารสายสีม่วงใต้ (เตาปูนราษฎร์บูรณะ) ใหม่หลังถูก สศช.ติงประเมินสูงไป สั่งยึดฐานสีม่วงเหนือ คลองบางไผ่เตาปูน ที่ผู้โดยสารต่ำเป้ามาก "พีระยุทธ" เผยลดเป้าผู้โดยสารช่วง 4-5 ปีแรก เชื่อจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่อโครงข่ายสมบูรณ์ ส่วนสีม่วงเหนือคาดผู้โดยสารเข้าเป้าหลัง เปิดเดินรถสีน้ำเงินต่อขยายและมีระบบตั๋วร่วม พร้อมมั่นใจดันรถไฟฟ้า 5 สายที่เหลือ เข้าครม.เปิดประมูลครบใน ธ.ค.60

 

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าในปี 2560 ของ รฟม.ว่า จะมีอีก 5 โครงการที่อยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพและปริมณฑล  ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด รฟม. ได้ทำข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว คาดว่าจะเสนอประชุมบอร์ด สศช.ได้ในเดือน ก.พ. 2560 พร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม. วงเงิน 21,120 ล้านบาท ซึ่งได้ศึกษาแผนรายละเอียดเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

 

ส่วนสายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง  9.2 กม.  วงเงิน 9,529.54 ล้านบาท,สายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กม. วงเงิน 9,236.07 ล้านบาท,สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง16.4 กม. วงเงิน 85,288.54 ล้านบาท ได้เสนอเรื่องไปกระทรวงคมนาคมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเสนอบอร์ด สศช. คาดว่าจะทยอยเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ตั้งแต่ ไตรมาส 2/60 และเปิดประมูลได้ภายในเดือนก.ย.-ธ.ค.60

 

ทั้งนี้ หลังจากเปิดเดินรถสายสีม่วงเหนือ ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน แล้วพบว่า จำนวนผู้โดยสารจริง ไม่ตรงกับสมมติฐานที่ประเมินไว้ ทาง สศช. จึงให้รฟม.ปรับประมาณการจำนวนผู้โดยสารของสายสีม่วงใต้ใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากสีม่วงเหนือ ซึ่งทำให้คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารของสายสีม่วงใต้ ในช่วง 4-5 ปี ลดลงจากเดิม แต่จะค่อยๆ ปรับขึ้นไป เมื่อประชาชนมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทาง ซึ่งตัวเลขผู้โดยสารนั้น มีผลต่อการประเมินผลตอบแทนการลงทุนโครงการ ดังนั้น จะต้องประเมินให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งข้อดีของสีม่วงใต้คือ เมื่อเปิดเดินรถ โครงข่ายจะมีการเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายอื่นแล้ว เช่น สถานีวังบูรพา ตัดกับ สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

 

จากข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์ และประมาณการจำนวนผู้โดยสารเดิม สายสีม่วงใต้จะมีถึง 477,098 คน/วัน โดยประเมินช่วงตั้งแต่ปี2562 ถึง  2592 รวม 30 ปี โดยจัดลักษณะโครงสร้างค่าโดยสารตามระยะทาง โดยมีค่าแรกเข้า 12.20 บาท + 2.2 บาทต่อกิโลเมตร (ราคา ณ ปี 2552) ซึ่งมีการยกเว้นค่าแรกเข้าสำหรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าของ รฟม.

 

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน หลังจาก รฟม.ได้ปรับลดอัตราค่าโดยสาร จากเดิม 14-42 บาท เหลือ 14-29 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.59 ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยเพิ่มมาอยู่ที่ประมาณ 23,000 คน/วัน เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 20% ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้บริการในช่วงเช้าและเย็น ซึ่งต้องยอมรับว่า แนวเส้นทางของสีม่วง เป็นที่อยู่อาศัย ไม่มีกิจกรรมเชิงพาณิชย์หรือย่านธุรกิจ จึงไม่เอื้อให้มีการเดินทางตลอดเวลา ซึ่งภาครัฐและท้องถิ่นจะหาแผนพัฒนาการใช้พื้นที่ตามแนวเส้นทาง "ผู้โดยสารสายสีม่วงเหนือจะเพิ่มขึ้นอีก คงต้องรอ 2-3 ประเด็น คือ การต่อเชื่อมสีน้ำเงินช่วง 1 สถานี, สีน้ำเงินต่อขยายเปิดเดินรถครบวง, เกิดระบบตั๋วร่วมที่ทำให้ค่าโดยสารเป็นระบบเดียวกัน ซึ่งทางสนข.กำลังสรุปเรื่องการจัดตั้งบริษัท ตั๋วร่วมขึ้นมา บริหารจัดการ โดยผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องหารือกัน ประเด็นคือต้องยอมรับต้นทุนและกำหนดอัตราค่าโดยสารเดียวกันอย่างไร เพราะถ้ากำหนดค่าโดยสารแพง คนก็ ไม่ใช้ ผู้ประกอบการขาดทุน ดังนั้น น่าจะมีจุดพอดีกับทุกฝ่าย ที่ค่าโดยสารไม่แพงมาก และผู้ประกอบการอยู่ได้"

 

โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการ Shuttle Bus เชื่อมต่อสีม่วงกับสีน้ำเงิน (เตาปูน-บางซื่อ) ประมาณ 14,000 คน/วัน โดย รฟม.ได้จัดรถโดยสารปรับอากาศขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จากสถานีเตาปูน-บางซื่อ 15 คัน ให้บริการทุกวัน  มีค่าใช้จ่ายประมาณ 210,000 บาท/วัน รถไฟชานเมืองเชื่อมระหว่างสถานีบางซ่อน-สถานีบางซื่อจันทร์-วันศุกร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายส่วนของรถไฟชานเมืองเชื่อม 1 สถานี 226,576 บาท/วัน

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ