อาลีบาบาปักธงแปดริ้ว รับอีอีซีดันราคาที่พุ่ง
ผุดโลจิสติกส์พาร์ก
อาลีบาบากรุ๊ปจีบกนอ.หาพื้นที่ในการก่อสร้างแวร์เฮาส์ทำเป็นโลจิสติกส์ พาร์ก เพื่อใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ วงในเผยสนใจที่แปลงใหญ่ค่ายเหมราช อมตะ สำรวจ ที่ดินพบฉะเชิงเทรา-บางปะกง พุ่งไม่หยุด นายคณิศ แสงสุพรรณ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนา พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะผลักดัน
การพัฒนาอีอีซี ทางอาลีบาบากรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของจีน มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ในไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพราะมองว่าการจำหน่ายสินค้าผ่านธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ในกลุ่ม CLMV ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ทางอาลีบาบากรุ๊ปจึงต้อง การให้ไทยเป็นศูนย์ กลางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาค โดยจะใช้ระบบการขนส่งสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งเครื่องบิน รถไฟ และไปรษณีย์ไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สอดคล้องกับ แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้อาลีบาบากรุ๊ป ได้ส่งรองประธานบริษัทเข้ามาพบ กนอ. เพื่อขอให้กนอ.ช่วยหาพื้นที่ในการก่อสร้างแวร์เฮาส์โดยทำเป็นโลจิสติกส์พาร์ก เพื่อใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าขนาด 5 หมื่นตารางเมตร หรือเกือบ 3 เท่าของราช มังคลากีฬาสถาน โดยพื้นที่ที่อาลีบาบากรุ๊ปต้องการคือ อยู่ติดกับท่าอากาศยาน เบื้องต้นได้เข้าไปดูพื้นที่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งไม่ไกลจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไว้ 2 แห่ง หนึ่งในนั้นคือที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร "ทางอาลีบาบากรุ๊ป แจ้งว่าการเข้ามาจัดตั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทย จะมีการจ้างแรงงานประมาณ 1 หมื่นคน จึงขอให้รัฐบาลช่วยจัดหาแรงงานให้ พร้อมกับให้พิจารณากำหนดพื้นที่ที่จะใช้จัดตั้งแวร์เฮาส์ในการกระจาย สินค้าเป็นเขตปลอดภาษี" แหล่งข่าวจาก กนอ.ระบุ ต่อเรื่องนี้นางสมศรี ดวงประทีป กรรมการบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่อาลีบาบาเข้ามาดูพื้นที่ก่อนหน้านี้ แต่ปิ่นทองเป็นพื้นที่ขนาดเล็กเพราะเหลืออยู่เพียง 1,000 ไร่จากเดิมมี 6,000 ไร่ ทยอยขายเกือบหมดแล้ว และท่าทีทางอาลีบาบาจะสนใจที่แปลงใหญ่อย่างกลุ่มเหมราช มากกว่า โดย ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อไปยังผู้บริหารกลุ่มเหมราชและกลุ่มอมตะ แต่ไม่สามารถติดต่อได้เนื่องจากติดประชุม
อีอีซีฉุดแปดริ้วบูม
ขณะที่ความเคลื่อนไหวราคาที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา นายวัฒนา รัตนวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทราระบุว่านับจากรัฐบาลให้ความสำคัญ ให้จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นอีอีซี ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับสูงอย่างรวดเร็ว เห็นชัดตั้งแต่ปลายปี 2559 เป็นต้นมา โดยเฉพาะทำเลติดถนนสายหลัก ฉะเชิงเทรา-บางปะกงขนาดแปลงที่ดิน 10 ไร่ ราคาเฉลี่ยไร่ละ 15 ล้านบาท เข้าถนนซอย อาทิ ถนนลาดยางขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 100 เมตรขนาดแปลง 10 ไร่ราคาไร่ละ 10 ล้านบาท เทียบจากปีที่ผ่านมาทำเลเดียวกัน ติดถนน ฉะเชิงเทรา-บางปะกง ราคาไม่ถึง 10 ล้านบาท
ตัดวงแหวน 2 ดันที่พุ่ง 100%
ขณะเดียวกันผังเมืองรวมจังหวัดยังกำหนดให้กรมทางหลวงก่อสร้างถนนวงแหวนรอบ 2 รอบเมืองฉะเชิงเทรา ระยะทาง 51 กิโลเมตร ขนาด 4-6 ช่องจราจรมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท แนวสายทาง ผ่าน เขตอำเภอเมือง อำเภอบางไทร อำเภอบางคล้า เชื่อมต่อกับ ถนนรามอินทรา กรุงเทพมหานคร รองรับการขยายตัวของเมือง จากกรุงเทพฯ มายังฉะเชิงเทรา ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดโซนพัฒนาตามผังเมืองให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัยรองรับอีอีซี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจเส้นทาง คาดว่าจะยิ่งทำให้ราคาที่ดินบริเวณดังกล่าวปรับขึ้นกว่า 100% ซึ่งปัจจุบันบริเวณแนวถนนวงแหวนใหม่ เขตอำเภอเมือง ไร่ละ 8 ล้านบาท เขตอำเภอบางคล้าไร่ละ 7-8 ล้านบาท
นายวัฒนา ฉายภาพว่ายังมีท่าเรือบ้านโพธิ์ ที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมามีแผนพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่โดยขุดร่องน้ำขนาด 2,000 ตันกรอส จากปัจจุบัน 500 ตันกรอส แต่ถูกรัฐประหารเสียก่อน ท่าเรือแห่งนี้จะเป็นท่าที่สำคัญ ต่อการส่งออกสินค้า ซึ่งทำเลนี้จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กระจายสินค้ามากที่สุด
ปนเมืองอยู่อาศัยชั้นดี
นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ราคาที่ดินเคลื่อนไหวเร็วมาก ไม่เกิน 3 ปี ทางหลวงสาย 314 "ฉะเชิงเทราบางปะกง จากราคาไร่ละ 8 ล้านบาท ขยับเป็นไร่ละ 20 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับ รัฐบาลลงทุนรถไฟ ซึ่งจะเกิดการพัฒนารอบสถานีรอบๆ ตัวเมือง ซึ่งจะเกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่จะอยู่ชานเมืองที่สามารถเชื่อมโครงข่ายมายังแหล่งงานได้
อย่างไรก็ดี ฉะเชิงเทรามีจุดเด่นในตัวเอง เนื่องจากเป็นทั้งศูนย์กลางคมนาคมทางอากาศ ใกล้สุวรรณภูมิ เพียง 40 กิโลเมตร ใกล้สนามบินอู่ตะเภา อีกทั้งใกล้กทม. ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง มีท่าเรือเอกชน รองรับใกล้ฐานการผลิตอุตสาหกรรม ทำให้ฉะเชิงเทราสามารถทำซีดีซีหรือศูนย์กระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นได้อย่างรวดเร็ว
ก่อนหน้านี้นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การจัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ EEC ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอให้ครม.พิจารณาในต้นเดือนกุมภาพันธ์ และส่งให้สนช.พิจารณาได้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ 1. การแก้ไข พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน 2. การ ออกพ.ร.บ. กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการพัฒนา EEC กำหนดแนวทางการลงทุนในโครงการต่างๆ ระหว่างรัฐและเอกชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ