คอลัมน์ ลัดรั้วเขตศก.พิเศษ: แบงก์รัฐอัดสารพัดสินเชื่อ ดันผู้ประกอบการเร่งลงทุน
ทีมเศรษฐกิจ
การเตรียมความพร้อมด้านแหล่งเงินทุน จัดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ขาดเสียไม่ได้หากคิดจะเบิกร่องลงทุนกิจการในพื้นที่ "เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน" ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามหาช่องทางสนับสนุนด้วยการจัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หันมาเอาใจเอกชนด้วยการปล่อยสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสนับสนุนนโยบายเพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายพื้นที่ที่รัฐได้ปักธงไว้ ต่างพร้อมรอรับบรรดาเอกชนน้อยใหญ่ให้เข้าไปลงทุน เพื่อหวังว่า นโยบายนี้...จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่ง ที่กำกับดูแลโดยกระทรวงการคลังตอนนี้ได้รับลูกนโยบายเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า แบงก์รัฐหลายแห่งได้เข้าไปตรวจสอบความพร้อมลงพื้นที่สำรวจทำเลต่าง ๆ พร้อมทั้งพยายามจับมือภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อหาช่องทางสนับสนุนเงินทุน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นธุรกิจผลิตเพื่อการส่งออกให้มีความพร้อมไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าขายต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยอัดโปรโมชั่น มากมายหวังให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจัง
ธสน.ให้เงินกู้ยาว 15 ปี
เริ่มจาก...ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ หลังได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ให้เร่งหาทางหนุนการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน ล่าสุด...ได้ออกสินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยย้ายฐานการผลิตเข้าไปลงทุนหรือขยายกิจการที่ดำเนินการอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม และจังหวัดชายแดน ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ เช่น คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน
สำหรับจุดเด่นของสินเชื่อก้อนนี้ มีระยะเวลาเงินกู้สูงสุด 15 ปี (ระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 2 ปี) ไม่มีค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ โดยธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว คือคิดอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1 เท่ากับ อัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีมีดอกเบี้ยต่ำ (Prime Rate) ลบ 2.50% ต่อปี (ปัจจุบัน Prime Rate อยู่ที่ 6.50% ต่อปี) ปีที่ 2-8 เท่ากับ ลบ 1.50% ต่อปี และปีที่ 9-15 เท่ากับ ลบ 1.00% ต่อปี ทั้งนี้หากนักลงทุนสนใจสามารถขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60 ถือเป็นวงเงินกู้ระยะยาวเพื่อใช้ในการลงทุน พร้อมวงเงินหมุนเวียนในจำนวนสูงสุดอีก 1 เท่า ของวงเงินกู้ระยะยาว กำหนด
เงื่อนไขการขอรับบริการ คือต้องเป็นผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และเป็นผู้ลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดน
กรุงไทยดูความพร้อม
ขณะที่ "แบงก์กรุงไทย" ไม่นานมานี้ ได้จัดทีมเดินสายหารือกับสภาหอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ที่อยู่ในกลุ่มพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดที่มีการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 18 จังหวัด รวมถึงกลุ่มหัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค เพื่อจัดทำแนวทางสนับสนุนทางการเงินในระดับจังหวัด สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล
"ผยง ศรีวณิช" กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ยอมรับว่า แผนงานในปีนี้ กรุงไทยจะเข้าไปมีบทบาทใน 18 จังหวัดชายแดน แต่ละจังหวัดจะมีสาขาอยู่ประมาณ 15 สาขา รวม 300 สาขา
โดยตอนนี้ต้องดูพื้นที่แต่ละจุดว่าเป็นการค้าประเภทไหน จะสามารถนำระบบชำระเงินไปช่วยลูกค้า โดยที่ผ่านมายอมรับว่า ข้อมูลการเข้าไปสนับสนุนทางการเงินในระดับจังหวัดยังมีไม่เพียงพอ และล่าช้า จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกับภาคเอกชนโดยตรง ขณะที่แผนพัฒนาของแต่ละจังหวัดมีไม่เหมือนกัน จากนั้นจึงนำข้อมูลมาจัดวางแผนสนับสนุนการเงินที่เหมาะสมลงสู่พื้นที่แบบครบวงจร
"ล่าสุดได้เดินทางไปประชุมร่วมกับทางหอการค้า และสภาอุตฯ ของเชียงราย เพื่อนำร่องจัดทำเป็นโครงการสนับสนุนทางการเงิน เชียงราย โมเดล ซึ่งมีผลิตภัณฑ์การเงินครบวงจร โดยเน้นภาคเอกชนที่มีแผนการลงทุน และการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสาเหตุที่เลือกจังหวัดเชียงราย เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เพราะมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งใหม่
ท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้า ด่านการค้าชายแดน จึงน่าจะมีความต้องการทางการเงินเพิ่มขึ้น และในเร็ว ๆ นี้ จะหารือกับภาคเอกชนในจังหวัดอื่นอีกด้วย"
ถกเอกชนให้สินเชื่อ
เช่นเดียวกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ได้หยิบของที่ตัวเองมีมาช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะจังหวัดตาก ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระยะแรก ที่ได้นัดพบผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เพื่อนำเสนอโครงการสินเชื่อแฟคตอริ่ง หากผู้ใดสนใจ สามารถยื่นขอการสนับสนุนเงินทุนได้ทันที มีอัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบคือ 3.99 % ต่อปี พร้อมนำเสนอสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ให้อีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม ตามแผนพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว รัฐบาลได้มีการวางกรอบแผนงานในการทำงาน 12 เรื่อง ทั้งการเร่งออกกฎหมาย การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการ
เร่งดึงดูดการลงทุนจากเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายหลัก โดยเฉพาะในปีนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเดินสายโรดโชว์อย่างเข้มข้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งใน 5 ปีแรกจะใช้เงินลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท
ทั้งหมด...ถือเป็นข้อเสนอด้านการเงิน ที่ภาครัฐได้กางแขนกางขาเข้ามาช่วยสนับสนุนกันเต็มที่ เพราะ "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ถือเป็นนโยบายหลักในลำดับต้น ๆ ที่รัฐบาลต้องเข็นออกมาให้สำเร็จ เพราะ ณ เวลานี้ ถ้าเครื่องยนต์ด้านการลงทุนของเอกชนติดเครื่องได้เมื่อใด เมื่อนั้น...อนาคตของประเทศก็ย่อมสว่างไสว!.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์