คอลัมน์ อีโคโฟกัส: ปี60ลุยตอกหมุดรถไฟฟ้า10สาย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเร่งเดินหน้าโครงข่ายรถไฟฟ้าระยะแรก 10 สายทางให้แล้วเสร็จ เพื่อหวังที่จะแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อลดความสูญเสียพลังงานมูลค่าหลายหมื่นล้านต่อปี ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้กำชับให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เร่งผลักดันรถไฟฟ้าเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ครบ 10 สาย ภายในปี 2560 หลังจากที่ได้อนุมัติไปแล้ว 5 เส้นทาง เหลือ 5 เส้นทาง ทุกอย่างต้องเร่งให้ได้ตามแผน เพราะการลงทุนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ช้ามาเป็น 10 ปีแล้ว
พร้อมทั้งยังได้ให้ รฟม.เร่งลงทุนรถไฟฟ้าในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างน้อย 2 เส้นทาง เช่น จ.เชียงใหม่ หรือ จ.ภูเก็ต เนื่องจากปัจจุบันกำลังประสบปัญหาการจราจรเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (พีพีพี) หรือรัฐลงทุนเองทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สำหรับรถไฟฟ้า 5 เส้นทางที่รอเข้า ครม.นั้น ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ คาดว่าจะเสนอเข้า ครม.ได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 สายสีเขียว (ใต้) ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และ สายสีเขียว (เหนือ) ช่วงคูคต-ลำลูกกา ซึ่งใน 4 เส้นทางหลังนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถเสนอให้ ครม.อนุมัติภายในครึ่งปีแรกของปี 2560 นี้ และเมื่อผ่าน ครม.และประมูลแล้วจะใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี
อย่างไรก็ตาม นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์ และแผน) รฟม. กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ขณะนี้ รฟม.ได้เร่งรัดทุกโครงการ เพราะว่าทุกโครงการเป็นเป้าหมายของตามแผนแอคชั่นแพลนปี 59 ก็ผ่านมาแล้ว ปัจจุบันก็เป็นแผนปี 60 ก็คือโครงการที่จะอนุมัติในปี 60 รวมทั้งโครงการที่จะดำเนินการในต่างจังหวัด 2 โครงการรวมอยู่ด้วย นี่คือเป้าหมายของเรา
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าขณะนี้ เริ่มจาก รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพงบางแคและบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งการก่อสร้างงานโยธาขณะนี้มีความก้าวหน้า 89.16% จากแผนงาน 89.42% ถือว่าล่าช้าเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงท่าพระ-เตาปูน 10.5 กม. จะเสร็จเดือน ธ.ค.60 ซึ่งล่าช้าเนื่องจากมีการปรับการใช้พื้นที่ร่วมกับกรุงเทพมหานครในช่วงอุโมงค์แยกถนนจรัญสนิทวงศ์ และหลังจากที่แล้วเสร็จก็จะเริ่มงานวางระบบราง
ส่วนการเดินรถนั้นขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และอัยการพิจารณาร่างสัญญา คาดว่าจะส่งมายังคมนาคมเพื่อเสนอ ครม. และลงนามสัญญากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลได้ในเดือน มี.ค.60
ส่วน สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ งานโยธาแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านี้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติให้เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่งสมุทรปราการ จำนวน 1 ช่วงสถานีในวันที่ 1 มี.ค.ตามเดิม คือ จากสถานีแบริ่ง-สำโรง คาดว่าขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างเชื่อมต่อระบบอยู่
แต่ต้องอยู่ภายในเงื่อนไขว่า กรุงเทพมหานครต้องรับโอนหนี้สินและทรัพย์สิน ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้มีการรับหลักการ และต้องสรุปก่อนที่จะมีการเดินรถ โดยเบื้องต้นมีหนี้จำนวน 3,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมี สายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง งานโยธาคืบหน้าแล้ว 20% คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะการก่อสร้างเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาคือ สายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 23 กม. ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ก.พ.60 ที่ผ่านมา รฟม.ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธากับผู้รับเหมา 6 สัญญา วงเงิน 79,221 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดเริ่มก่อสร้างงานโยธาในเดือน มิ.ย.60 และกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ม.ค.66 อย่างไรก็ตาม รฟม.จะเร่งรัดเข้าพื้นที่และเวนคืนพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจ คาดว่าเดือน มิ.ย.จะสามารถลงพื้นที่ได้ คาดว่าจะใช้เวลาในการรื้อย้ายประมาณ 1 ปี
อย่างไรก็ตาม โครงการสายสีส้ม (ตะวันออก) ยอมรับว่ามีปัญหา เพราะต้องเลาะไปตามถนนยกระดับรามคำแหง โดยการสร้างอุโมงค์ใต้แนวทางยกระดับ ซึ่งมีเสาเข็ม มีฐานรากตลอดแนว และต้องมีสถานีอยู่ใต้ฐานราก ดังนั้นต้องใช้วิธีการก่อสร้างที่เป็นลักษณะพิเศษ ลักษณะคล้ายกับสถานีสีลม คือต้องเสริมความแข็งแรงของฐานรากให้ได้ก่อนที่จะมีการลงเสาเข็ม ซึ่งจะใช้เวลาลง 2 ปีต่อ 1 เสาเข็ม ประเด็นอยู่ที่พื้นด้านล่าง แม้ว่าจะมีการสำรวจแล้ว แต่เมื่อขุดลงไปเราไม่รู้จะเจออะไรบ้าง
ส่วน สายสีส้มตะวันตก ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ได้อนุมัติให้ดำเนินตามแผนแม่บท โดยปรับลดเส้นทางลง 2 สถานี ทำให้ลดวงเงินลงทุนลงได้ประมาณ 7 พันล้านบาท เป็นเส้นทางบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ จากเดิมเส้นทางตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำให้วงเงินค่าโยธาอยู่ที่ 90,271 ล้านบาท เพราะไม่ต้องการลงทุนทับซ้อนกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอให้กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุม ครม.ได้ไม่เกินเดือน เม.ย.60 และน่าจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลในเดือน ก.ค.60 จากนั้นจะเซ็นสัญญาราวปลายปี 60 หรือต้นปี 61 และจะเปิดเดินรถปลายปี 66
ส่วนงานเดินรถของสายสีส้มนั้นจะต้องหาผู้รับสัมปทานทั้งสายเลย จะไม่ทำเป็นช่วงๆ แบบสายสีม่วง เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบนั้นอีก เพราะอย่างนั้นการจ้างเดินรถหรือทำสัญญาสัมปทานเดินรถจะทำทั้งสายเลย เนื่องจากเป็น PPP ก็ต้องไปศึกษาความเป็นไปได้ตาม พ.ร.บ.ปี 56
* เจรจาขยายเส้นทางสายสีชมพู-เหลือง
นายธีรพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้า สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และ สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.เอกชนร่วมทุนปี 2556 นั้น ขณะอยู่ระหว่างการเจรจากับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท BTS Group บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งฯ หรือ RATCH และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ หรือ STEC ที่ชนะการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทาง
โดยขอขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมต่อเข้าเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. และสายสีเหลืองขอขยายเส้นทางจากเดิมสิ้นสุดที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ให้สามารถเชื่อมต่อสถานีลาดพร้าว รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เลี้ยวขวาไปถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. เพิ่มอีก 2 สถานี เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรัชโยธิน รถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ พยายามพิจารณาให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.พ.นี้ จากนั้นจะส่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาตรวจร่างสัญญา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบลงนามสัญญาทั้ง 2 เส้นทาง ในเดือน เม.ย.60 ตามที่ตั้งเป้าไว้ และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปี 60 เช่นกัน
ส่วน สายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รวมวงเงินทั้งสิ้น 297,500 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ก.ค.นี้ และเริ่มก่อสร้างได้ตามแผนในช่วงต้นปี 2561 และ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ สศช.เห็นชอบ จากนั้นกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอ ครม. คาดว่าจะคัดเลือกผู้รับเหมาได้ในปลายปี 60 ส่วนรูปแบบการก่อสร้างนั้นจะเป็นแบบใต้ดิน
เช่นเดียวกับ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร ที่รอ สศช.เห็นชอบ ก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.อนุมัติก่อสร้าง รวมไปถึงสายสีเขียวส่วนต่อขยายสีเขียวใต้ สมุทรปราการ-บางปู และต่อขยายสีเขียวเหนือ คูคต-ลำลูกกา คลองหกขณะนี้ส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม.
* นำร่องพัฒนารถไฟฟ้าภูเก็ต-เชียงใหม่
นายธีรพันธ์กล่าวว่า ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่มอบนโยบายให้สร้างรถไฟฟ้าให้ได้ภายในปีนี้โดยเน้นจังหวัดใหญ่ เช่น ภูเก็ตและเชียงใหม่ที่มีการจราจรหนาแน่น กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสม และให้ รฟม.เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะต้องอนุมัติโครงการให้ได้อย่างน้อย 2 จังหวัด ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นให้พิจารณาความเหมาะสม กรณีที่จังหวัดมีกำลังดำเนินการเองได้ ให้เปิดร่วมทุนกับเอกชน (PPP) แต่หากไม่มีกำลังรัฐบาลจะเข้าไปทำเอง
สำหรับผลการศึกษารายละเอียดโครงการที่จังหวัดภูเก็ตจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.พ.2560 โดยจะใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้าง 28,000 ล้านบาท ในระยะทาง 43 กิโลเมตร 20 สถานี โดยจะเริ่มจากต้นสายในเมืองภูเก็ต-สนามบินภูเก็ต ซึ่งที่ผ่านมาในการลงพื้นที่ประชาชนบางส่วนยังมีความกังวลเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากการให้บริการใช้นั้น เป็นลักษณะวิ่งร่วมบนถนน โดยหากมีจุดกลับหรือจุดทางแยก ซึ่งผลการศึกษาก็ได้ระบุรายละเอียดชัดว่ามีความปลอดภัย
* MOU เชื่อม 1 สถานีเตาปูน-บางซื่อ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รฟม.และ BEM ได้ร่วมลงนามสัญญาว่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ช่วงสถานีเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร วงเงิน 918 ล้านบาท หลังจากที่ ครม.ได้เห็นชอบการดำเนินการจัดจ้าง ซึ่ง รฟม.จะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถเชื่อมต่อให้บริการประชาชนให้ได้ในเดือนสิงหาคม 2560
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์