เปิดประมูลเขตศก.หนองคาย-มุกดาหาร
"คลัง" เปิดประมูลพื้นที่เขตศก.พิเศษ หนองคาย-มุกดาหาร เปิดขายซองประมูล 24 ก.พ.-21 มี.ค. พร้อมให้เวลา 90 วัน จัดทำข้อเสนอ จากนั้นใช้เวลา 30 วันพิจารณาผู้ชนะการประมูล
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์เปิดให้นักลงทุนซื้อเอกสารลงทุน เพื่อ เข้าร่วมประมูลเสนอโครงการลงทุนพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ หนองคาย และมุกดาหาร โดยซื้อเอกสารลงทุนได้ตั้งแต่ วันที่ 24 ก.พ.-21 มี.ค.2560 จากนั้นให้เวลา 90 วัน จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อยื่นเสนอเข้ามาให้กรมธนารักษ์พิจารณา โดยใช้เวลา 30 วันพิจารณาผู้ชนะการประมูล
สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย มีเนื้อที่ทั้งแปลง 718-0-46 ไร่ ตั้งอยู่ ต.สระใคร อ.สระใคร รัฐบาลมีโครงการรถไฟความเร็วจีน-หนองคาย รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีความพร้อมด้านโครงสร้าง พื้นฐานภายนอกโครงการศักยภาพของที่ดิน เป็นช่องทางการค้าชายแดนของไทยกับ สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุด
ส่วนมุกดาหาร เนื้อที่สองแปลงรวม 1,080-3-18.7 ไร่ ตั้งอยู่ ต.คำอาฮวน อ.เมือง จ.มุกดาหาร มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ เขตชายแดน มุกดาหารเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับ แขวงสะ-หวัน-นะ-เขต สปป.ลาว มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับลาวเป็นอันดับสองของประเทศ ศักยภาพของที่ดินอยู่บน แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก เชื่อมโยงเข้าสู่ลาวและเวียดนาม เป็นช่องขนส่งสินค้าไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ รัฐบาลมีนโยบายดำเนินการเขต พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ ได้แก่ จ.ตาก จ.สระแก้ว จ.สงขลา จ.มุกดาหาร จ.ตราด จ.หนองคาย จ.เชียงราย จ.นครพนม จ.กาญจนบุรี จ.นราธิวาส ก่อนหน้านี้ จัดให้เช่าแล้ว 2 พื้นที่ ได้แก่ จ.สระแก้ว เนื้อที่ 660-2-23 ไร่ ทำสัญญาเช่ากับ การนิคมอุตฯเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา และตราด เนื้อที่ 895-0-44 ไร่ ทำสัญญาเช่ากับบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559 เมื่อรวมครั้งนี้จะเป็น 4 พื้นที่ ส่วน 6 พื้นที่เหลือทยอยให้ผู้สนใจประมูล โดยขอดูความพร้อมของโครงการก่อน เพราะบางพื้นที่ยังติดปัญหาผู้บุกรุก
สำหรับเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุน โดยข้อเสนอทางเทคนิค ต้องนำเสนอแผน การพัฒนาพื้นที่ที่ขอลงทุน แนวคิดจัดทำแผนแม่บทเบื้องต้น การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รูปแบบอาคารที่โดดเด่นทันสมัย และมีนวัตกรรมเชื่อมโยงไทยแลนด์ 4.0 การจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจ เอสเอ็มอี รูปแบบจำลองเชิงธุรกิจ กรอบระยะเวลาดำเนินการ และความเป็นไปได้ในเชิงการเงิน ตลอดจนข้อเสนอเงินค่าธรรมเนียม การจัดให้เช่าขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนด "การเปิดประมูลครั้งใหม่นี้มีผ่อนปรน เงื่อนไขบางประการเพื่อให้เป็นที่น่าสนใจ จากเดิมกำหนดให้ผู้ที่เข้าร่วมประมูล ต้องมีประสบการณ์พัฒนาที่ดินลักษณะนิคม ปรับเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างใด อย่างหนึ่ง เช่น การค้า การลงทุน บริการ หรือภาคการผลิต ส่วนการเสนอโมเดลธุรกิจปรับแก้จากการใช้รูปแบบ BOQ ส่วนราคาค่าก่อสร้าง ใช้ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรแทน ถือว่ายืดหยุ่นขึ้น"
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ