สถานีกลางบางซื่อ รอขึ้นแท่นศูนย์กลางการเดินทาง
Loading

สถานีกลางบางซื่อ รอขึ้นแท่นศูนย์กลางการเดินทาง

วันที่ : 22 กุมภาพันธ์ 2560
สถานีกลางบางซื่อ รอขึ้นแท่นศูนย์กลางการเดินทาง

ทีมข่าวอสังหาริมทรัพย์ โพสต์ทูเดย์

 

สถานีกลางบางซื่อ รอขึ้นแท่นศูนย์กลางเดินทาง

 

หนึ่งในแผนพัฒนาที่ดินของรัฐที่ภาคเอกชน ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ นั่นก็คือสถานีกลางบางซื่อ โดยหากรถไฟฟ้า 11 เส้นทางระยะทางรวมกว่า 400 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้วเสร็จตามกำหนดภายในปี 2565 สถานีกลางบางซื่อจะมีความโดดเด่นในแง่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางแห่งใหม่ในการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง โดยเส้นทางหลักๆ จะเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีแดง ทั้งสายสีแดงเข้มและสีแดงอ่อน สายสีม่วงที่วิ่งตรงมาถึงสถานีดังกล่าว

 

หากศึกษารถไฟฟ้า 3-4 สายที่จะวิ่งเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ เริ่มด้วยสายสีน้ำเงินฝั่งบางซื่อ-ท่าพระ และฝั่งหัวลำโพง-บางแค เมื่อรวมกับเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน บางซื่อ-หัวลำโพง เส้นทางนี้จะวิ่งเป็นวงกลม ซึ่งจะเป็นสายเลือดหลักในการนำเข้าคนจำนวนมหาศาลเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ เป็นรถไฟฟ้าสายที่นำคนเข้าสู่เมืองและกระจายออกนอกเมืองไปทางจรัญสนิทวงศ์ บางแค

 

ขณะที่สายสีม่วงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่ได้เชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อ แต่ภายในกลางปีนี้การเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูนและสถานีบางซื่อตามแผนงานของรัฐ จะทำให้การเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีม่วงสมบูรณ์ ซึ่งสายสีม่วงจะขนคนจากรอยต่อกรุงเทพฯ และจาก จ.นนทบุรี เข้าสู่ใจกลางเมืองด้วยการเปลี่ยนรถไฟฟ้าที่สถานีกลางบางซื่อแห่งนี้

 

เช่นเดียวกับสายสีแดงที่ก็จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางหลักที่จะขนคนจำนวนมหาศาลเข้าสู่สถานีกลางแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสายสีแดงรังสิต-บางซื่อ ต่อด้วยสายสีแดงเข้ม รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) ที่เป็นส่วนต่อ ขยายของสายสีแดง สายสีแดงอ่อน (ชานเมือง) บางซื่อหัวหมาก และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และยังมีสายสีแดงเชื่อมแอร์พอร์ตลิงค์ ดอนเมือง-พญาไท ซึ่งหากวิเคราะห์แต่ละเส้นทางจะเห็นว่าเป็นกลุ่มรถไฟฟ้าสายสีแดงจะขนคนจากทั้งฝั่งเหนือ ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ อีกทั้งยังขนคนนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ใช้บริการแอร์พอร์ตลิงค์เดินทางจากสนามบินเข้าสู่เมือง

 

จึงไม่แปลกที่ มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กูรูแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์จะให้นิยามสถานีกลางบางซื่อว่าเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่ไปทั่วโลก

 

วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานคอนโด 1 บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า หากรถไฟฟ้าทุกเส้นทางก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็เชื่อว่าสถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์อีกแหล่งหนึ่งที่น่าสนใจ จะคล้ายกับสถานีเซ็นทรัลในฮ่องกง หรือสถานีโตเกียว ซึ่งอาจจะไม่ใช่แหล่งศูนย์กลางแฟชั่น แต่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อที่สำคัญ จนทำให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ขึ้น

 

ทั้งนี้ ในพื้นที่ใกล้เคียงย่านบางซื่อ ปัจจุบันมีตลาดนัด จตุจักรที่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติอยู่แล้ว ซึ่งหากสถานีกลางบางซื่อเกิดจริง มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดทำเลอาคารสำนักงานแห่งใหม่ได้ โดยย่านนี้ถือเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่อยู่แล้ว เช่น อาคารสำนักงานของกลุ่มเอสซีจี หรือถ้าขยับมาทางถนนวิภาวดี ก็มีอาคารสำนักงานหลายแห่ง

 

สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยก็จะขยับออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงแทน เพราะพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งคอนโดมิเนียมขายสิทธิการเช่าย่านนี้อาจจะทำตลาดยาก เพราะย่านนี้มีซัพพลายค่อนข้างเยอะ แตกต่างจากพื้นที่ในเมือง เช่น หลังสวน ราชดำริ ที่ไม่มีซัพพลายที่ดินแล้ว ตลาดคอนโดสิทธิการเช่าจึงเกิดได้

 

พนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตศูนย์คมนาคมบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางคมนาคมและระบบขนส่งทางรางของประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาที่ดินโดยรอบอย่างชัดเจน ทั้งการพัฒนาโครงการอยู่อาศัยและพาณิชยกรรมที่จะเกิดขึ้นควบคู่กันในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ที่ดินโดยรอบส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐและการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึง ที่ดินของเอสซีจี ซึ่งจะต้องรอดูความชัดเจนในการนำที่ดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งที่ผ่านมาการรถไฟฯ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้ทำการศึกษารูปแบบการพัฒนาและฟังความเห็นของภาคเอกชนไปแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

 

นอกจากนี้ แม้ว่าสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางในการเดินทางด้วยระบบราง แต่จำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายถนน เพื่อให้เชื่อมโยงกับพื้นที่ด้านนอกและทำให้การเข้าถึงมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในบริเวณศูนย์บางซื่อด้วย

 

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้มอบหมายให้บริษัท ไนท์แฟรงค์ ทำมาร์เก็ต ซาวดิ้ง รับฟังความเห็นและความสนใจของภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาพื้นที่ของศูนย์คมนาคมบางซื่อ ซึ่งก็มีเอกชนหลายรายที่ให้ความสนใจ แต่ยังไม่รู้ว่าเงื่อนไขในเทอมสุดท้ายจะเป็นเช่นไร ซึ่งต้องรอติดตามความคืบหน้าจากการรถไฟฯ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ