คิดล้ำทำรถไฟฟ้าสนามบินดอนเมืองทอท.ทุ่มพันล้าน8กม.นั่งฟรีแก้รถติด
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มี นายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธานบอร์ดว่าที่ประชุมได้หารือปัญหาการจราจรแออัดภายในท่าอากาศยานดอนเมือง ส่งผลต่อการจราจรภายนอกสนามบินรวมทั้งปัญหาผู้โดยสารต้อง เดินทางไกลจากอาคารจอดรถมายังอาคารผู้โดยสาร จึงมอบ ให้ ทอท. ไปศึกษารายละเอียดการนำระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (เอพีเอ็ม) หรือรถไฟฟ้ามาให้บริการผู้โดยสารภายในสนามบิน เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ทอท.จะบรรจุโครงการในแผนระยะสั้น เป็นส่วนงานที่บรรเทาความเดือดร้อน ไม่ ใช่งานพัฒนา ไม่จำเป็นต้องผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สามารถดำเนินโครงการได้เลย โดย ทอท.จะไปศึกษารายละเอียด และกำหนดกรอบเวลาดำเนินโครงการทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือนเสนอบอร์ด ทอท. พิจารณาอีกครั้ง
นายนิตินัย กล่าวต่อว่า เบื้องต้นรถไฟฟ้าภายในสนามบินมีระยะทาง 6-8 กม.เริ่มตั้งแต่ทิศเหนือของสนามบินบริเวณที่จอดเครื่องบินเอ็มเจ็ทไปจนถึงทางทิศใต้ของสนามบิน บริเวณถนนเทวฤทธิ์พันลึก ใกล้ร้านเจ้เล้ง ผ่านอาคารผู้โดยสาร 1 และ 2 ตลอดจนอาคารจอดรถ กำหนดสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) เชื่อมเข้าอาคารผู้โดยสารได้ทันทีด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ที่มาใช้บริการสนามบินดอนเมืองโดยจะให้บริการฟรี ส่วนงบประมาณดำเนินโครงการต้องรอผลการศึกษารายละเอียด แต่คาดว่าจะอยู่หลักพันล้านบาทส่วนการก่อสร้างน่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 3 ปี
นายนิตินัย กล่าวอีกว่า แผนระยะสั้นดังกล่าวนี้ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะสนามบินดอนเมืองเท่านั้น แต่จะบรรเทาความแออัดของสนามบินอื่นด้วยเช่น สนามบินหาดใหญ่ จะสร้างพื้นที่สำนักงานใหม่เนื่องจากปัจจุบันตั้งอยู่ภายในอาคาร ผู้โดยสาร รวมทั้งจะสร้างที่จอดรถเพิ่มเติม ส่วนสนามบินเชียงใหม่ จะสร้างอาคารจอดรถ และสนามบินเชียงรายกำลังพิจารณาการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง เป็นต้น ทั้งนี้การดำเนินการในส่วนนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 61
นายนิตินัย กล่าวด้วยว่าที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ แผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, หาดใหญ่และภูเก็ต ระยะกลาง 10 ปี (59-68) กรอบวงเงินประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับลำดับของการขออนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนั้น จะเริ่มจากปี 60 โครงการพัฒนาสนามบินหาดใหญ่ และเชียงใหม่ ในเดือน ส.ค. 60, ปีงบประมาณ 60-61 พัฒนาสนามบินดอนเมือง ในเดือน พ.ย. 60, ปีงบประมาณ 61 พัฒนาสนามบินเชียงราย และภูเก็ตโดยการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 68 จะทำให้สนามบิน ทอท. รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 83.5 ล้านคน เป็น 200 ล้านคน
นายนิตินัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทอท.ยังมีแผนระยะยาว 20 ปี ( 59-78) กรอบวงเงินลงทุน 4 แสนล้านบาท โดยแผนจะบรรจุการลงทุนเพิ่มเติม 2 โครงการคือ อาคารเทียบเครื่องบินหลังรอง (Satellite) แห่งที่ 2 และอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ จะทำให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 40 ล้านคนต่อปี ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะนี้ ทอท. ต้องรอความชัดเจนเรื่องขนาดพื้นที่เชิงพาณิชย์และอัตราค่าเช่าพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก่อน ซึ่ง ทอท. ตั้งเป้าว่าจะหารือกรมธนารักษ์ให้ได้ความชัดเจนกลางปีนี้เพื่อให้ทันกับการปิดปีงบประมาณ 60 โดยขณะนี้กรมธนารักษ์เสนอเก็บค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non-aero) ในท่าอากาศสุวรรณภูมิ 2 รูปแบบ คือ เก็บค่าเช่าด้วยรูปแบบส่วนแบ่งรายได้ (Revenue sharing) ในอัตรา 5% เท่าเดิม และเพิ่มการเก็บค่าเช่ารูปแบบผลตอบแทนจากทรัพย์สิน (ROA) ในสัดส่วน 3% อย่างไรก็ตาม ต้องเจรจาประเด็นนี้อีกครั้ง แต่เบื้องต้นตั้งเป้าว่าจะเดินหน้าพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในปี 61 โดยให้เอกชนเป็นผู้เสนอโครงการและและจัดทำรายงานความเหมาะสมแต่หากพิจารณาว่าการลงทุนไม่คุ้มค่าก็จะคืนพื้นที่กลับไปยังกรมธนารักษ์.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์