รฟม.ประเคนที่ดิน10สายผุดคอนโดฯ
Loading

รฟม.ประเคนที่ดิน10สายผุดคอนโดฯ

วันที่ : 2 มีนาคม 2560
รฟม.ประเคนที่ดิน10สายผุดคอนโดฯ

รฟม.ประเคนที่ดินทำเลทอง แนวรถไฟฟ้า 10 สาย นับ พันไร่ผุดคอนโดฯผู้มีรายได้น้อยแนวรถไฟฟ้าทุกสายร่วมกับการเคหะฯ

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  (รฟม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยร่วมกับการเคหะแห่งชาติ(กคช.) ตามนโยบายรัฐบาลว่า ได้นำที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนสร้างรถไฟฟ้า 10 สายมาพัฒนาโดยระยะแรก มี 3 ทำเลได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ 150 ไร่ ได้ที่ดินทำเล บางปิ้ง แบริ่ง เนื้อที่ 123 ไร่ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และอาคารจอดแล้วจร บริเวณสถานีการเคหะ 18 ไร่ อีกแปลง เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีมีนบุรี ซอยรามคำแหง 192 จำนวน 280 ไร่ ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง อย่างไรก็ดีขณะนี้การเคหะฯอยู่ระหว่างศึกษาว่าแต่ละทำเลจะพัฒนาได้กี่หน่วย

"แผนการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ ถือเป็นนโยบายหลักของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า ดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดได้เร็วขึ้น"

การนำที่ดินมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์นั้นต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน กฎหมายผังเมือง เพื่อให้การดำเนินงานนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะต้องแก้ พ.ร.บ.รฟม. เพื่อให้สามารถดำเนินการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เวนคืนในเชิงพาณิชย์ได้

สำหรับปี 2560-2561 ถือเป็นปีทองของการลงทุนระบบรถไฟฟ้า ตามแผนจะพัฒนาให้ครบ 10 สาย รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่ที่ดินรอบๆ สถานีจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ รฟม.อีกมหาศาล ซึ่งทำเลทองที่คาดว่าจะนำมาพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ได้มีมากกว่า 1,400 ไร่

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันมีที่ดินเวนคืนของโครงการรถไฟฟ้ามากกว่า 1,400 ไร่ ที่มีมูลค่าสูงและอยู่ในแหล่งชุมชนมีความพร้อมพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกิจการรถไฟฟ้ารวมถึงสร้างย่านการค้าและธุรกิจแห่งใหม่ให้กับเมืองหลวง

ทั้งนี้ รฟม.มีแผนพัฒนาอยู่แล้วโดยเฉพาะพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงซึ่งสามารถพัฒนาย่านการค้าและห้างสรรพสินค้าได้บนพื้นดิน เนื่องจากศูนย์ซ่อมนั้นอยู่ใต้ดินรวมถึงการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากอาคารจอดรถแบบจอดแล้วจร (Park&Ride) รวมถึงการร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมก่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ