สนข. ผนึก JICA เร่งศึกษาแผนระบบขนส่งทางรางระยะ2
Loading

สนข. ผนึก JICA เร่งศึกษาแผนระบบขนส่งทางรางระยะ2

วันที่ : 13 มีนาคม 2560
สนข. ผนึก JICA เร่งศึกษาแผนระบบขนส่งทางรางระยะ2

 สนข.ผนึก JICA วางแผนระบบขนส่งทางราง ระยะ 2 หรือ M-MAP 2อาคมระบุเน้นผุดโครงข่ายย่อยให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมเชื่อมออกสู่ปริมณฑลและต่างจังหวัด คาดใช้เวลาศึกษา 1 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดสัมมนา “Defining the 2nd Blueprint for Bangkok Mass Rapid Transit” เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และสร้างความรู้และความเข้าใจต่อการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ทั้งจากประเทศไทยและญี่ปุ่น เข้าร่วมการสัมมนา ประมาณ 150 คน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า การศึกษา M-MAP 2 ดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น  (JICA) ให้การสนับสนุนทั้งหมด โดยทำงานร่วมกับ สนข. ซึ่งแผน M-MAP 2 นี้จะมุ่งเน้นการสร้างโครงข่ายย่อย เพื่อให้ครอบคลุมโครงข่ายระบบรางในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลมากที่สุด การออกแบบต้องคำนึงถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่สถานี และย่านธุรกิจการค้า เพื่อเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งกับย่านธุรกิจ มีการสร้างเมือง สร้างพื้นที่ธุรกิจใหม่

โดยได้อธิบายให้ JICA รับทราบว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการลงทุนระบบรางเป็นสัดส่วนถึง 80% ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันการขนส่งทางรางมีระยะทางรางรวม 4,000 กิโลเมตร (กม.) และอีก 10 ปีจะเพิ่มเป็น 9,000 กม. ถือเป็นแผนการลงทุนขนาดใหม่ที่จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมชิ้นส่วน สามารถดึงดูดนักลงทุนมาตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วน และพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง โดย JICA และสนข. คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี เพื่อจัดทำ M-MAP 2 จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อขออนุมัติโครงการต่อไป

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ  ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยว่า สนข.ได้กำหนดระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จำเป็นสำหรับ กทม. และพื้นที่ต่อเนื่อง เป็นแผนระยะยาว 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 โดยเบื้องต้นการจัดทำ M-Map 2 ได้มีแนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้เชื่อมต่อระหว่าง กทม. กับจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดในภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดประโยชน์สูงสุด การใช้วัสดุในประเทศและการพัฒนาบุคลากร ลดต้นทุนการลงทุนระบบ เป็นรถไฟฟ้าเพื่อคนทุกกลุ่มที่จะรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างสะดวก และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองบริวาร โดยให้โครงข่ายรถไฟฟ้าสอดคล้องกับการเติบโตของเมือง

อย่างไรก็ตาม ทางสนข. ได้มีการเสนอให้ที่ประชุมสัมมนาพิจารณาเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มเติมจากแผนแม่บทเดิมจำนวน 2 เส้นทาง คือ 1.รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9) ระยะทาง 26 กม. และ 2.รถไฟฟ้าสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) ระยะทาง 9.5 กม.โดยรวมเส้นทางเชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้าทั่ว กทม. เป็นระยะทางรวม 509 กม.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ