BTSเร่งปิดดีลแสนล้านเซ็นสีชมพู-เหลืองเม.ย.
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้พิจารณา ข้อเสนอกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ มี บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ ผู้ชนะประมูลโมโนเรลสายสีชมพูแครายมีนบุรี วงเงิน 53,519 ล้านบาท กับสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง 51,931 ล้านบาทเสร็จแล้ว ผลเป็นไปตามทีโออาร์ โดยเอกชนให้รัฐ ชดเชยวงเงินไม่เกินค่าก่อสร้างแยกเป็นสาย สีชมพู 20,135 ล้านบาท สีเหลือง 22,354 ล้านบาท 10 ปีนับจากปี 2564
ขณะนี้การพิจารณาซองที่ 3 บีทีเอสเสนอเพิ่มเติมโดยต่อขยายเส้นทางสายสีชมพูอีก 2.8 กม. จากสถานีศรีรัช แจ้งวัฒนะ วิ่งแนวทางด่วนเข้าเมืองทองธานี มี 2 สถานี และสีเหลืองขยายอีก 2.6 กม. จากแยกรัชดา-ลาดพร้าว สร้างบนถนนรัชดาภิเษก ผ่านศาลอาญา เชื่อมสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ที่สถานีพหลโยธิน 24 มี 2 สถานีหน้าจันทรเกษมกับพหลโยธิน 24
คณะกรรมการคัดเลือกมีข้อสรุปเบื้องต้น ให้บีทีเอสเดินหน้าสร้างโครงการตามรูปแบบ เดิมไปก่อนระหว่างรอการอนุมัติข้อเสนอซองที่ 3 เนื่องจากต้องออกแบบรายละเอียดโครงการและทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และนำโครงการขยายเพิ่มให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อนุมัติเพื่อบรรจุไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้าด้วย
"เพื่อให้เซ็นสัญญาทัน เม.ย.นี้ เราทำสัญญาผูกให้สร้างตามแบบที่ออกไว้แต่แรกก่อน คาดว่าเริ่มก่อสร้างได้กลางปีนี้ ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมเริ่มงานภายหลังโครงการได้รับอนุมัติแล้ว คาดว่าใช้เวลา 6 เดือน"
นายธีรพันธ์กล่าวว่า สำหรับสายสีชมพูและสีเหลืองเป็นโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน รูปแบบ PPP Net Cost โดย รฟม.ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนเป็นผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างงานโยธา งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า ออกแบบเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว แบบคร่อมราง และให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร มีระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน
แบ่งการดำเนินงาน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2 งานให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา พร้อมกับพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้ง 2 สาย รวม 53 สถานี เป็นระยะเวลา 30 ปี
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ