คอลัมน์ REDATA: อสังหาฯปี'60 โตแบบกึ่งทรงตัว
Loading

คอลัมน์ REDATA: อสังหาฯปี'60 โตแบบกึ่งทรงตัว

วันที่ : 15 มีนาคม 2560
คอลัมน์ REDATA: อสังหาฯปี'60 โตแบบกึ่งทรงตัว

          CHOKCHAI

          เศรษฐกิจไทยเวลานี้อยู่ในลักษณะอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก มีแรงหนุนจากสภาพคล่องอัตราดอกเบี้ยต่ำและการลงทุนของภาครัฐส่งให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศ แต่มีความกังวลด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลก เป็นตัวกดดัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องมาจากการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ภาคการส่งออกอาจ ขยายตัวได้บ้าง แต่ยังไม่มั่นคง

          อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ประเมินภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ในปี 2560 จะขยายตัวได้ประมาณ 5% โดยอาคารชุดยังเป็นเซ็กเตอร์ที่มีปริมาณหน่วยขายและโอนมากที่สุด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ (ตามแนวรถไฟฟ้า) รองลงมาทาวน์เฮาส์ที่มีการเติบโตสูงมากขึ้น ขณะที่ราคาขายจะปรับขึ้นเฉลี่ย 3-10% จากต้นทุนที่ดินที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งมีปัจจัยบวกจากธนาคารแข่งขันกันขยายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านยังคงมีอัตราไม่สูง กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศยังคงดีอยู่

          การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จะเปิดโอกาสให้ความต้องการ อสังหาฯ ในไทยสูงขึ้น โดยเฉพาะอาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม คอนโดมิเนียม และนิคมอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามมีปัจจัยเสี่ยง คือ การเข้มงวดของธนาคารในการพิจารณาสินเชื่อผู้ซื้อบ้าน การขาดแคลนแรงงานประเภทสาขาวิชาชีพ และช่างฝีมือเป็นปัญหาของภาคอสังหาฯ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและผังเมือง รวมถึงอีไอเอยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการ

          นอกจากนี้ ต้นทุนการพัฒนาโครงการสูงขึ้นต่อเนื่องมาจากราคาที่ดิน โดยเฉพาะอาคารชุดสูงขึ้นมาก อีกทั้งระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินและกำลังซื้อของผู้บริโภคในบางกลุ่มรายได้ ซึ่งโดยสรุปแล้วตลาดอสังหาฯ โตแบบกึ่งทรงตัว จากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศเป็นตัว ขับเคลื่อนหลักยังดีอยู่ คือ คอนโดและ ทาวน์เฮาส์ ทำเลที่ขยายตัวยังเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนภูมิภาคจะมีเฉพาะจังหวัดเศรษฐกิจในแต่ละภาค แต่เป็นการเติบโตเฉพาะบ้านจัดสรร เช่น จ.สงขลา ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล ขณะที่การเติบโตในส่วนภูมิภาคโดยรวมจะชะลอตัว เนื่องจากปริมาณและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ

          อีกทั้งการเมืองยังเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยและการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะยังมีความเปราะบาง การปฏิรูปการเมืองต้องอาศัยปฏิรูปการศึกษา กฎหมาย ระบบการทำงานราชการ ระบบการกระจายรายได้ เป็นต้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์