จุดตัด ส้ม-น้ำเงิน บูมรัชดา สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯจังก์ชันใหญ่แห่งแรกดันที่ดินพุ่ง
Loading

จุดตัด ส้ม-น้ำเงิน บูมรัชดา สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯจังก์ชันใหญ่แห่งแรกดันที่ดินพุ่ง

วันที่ : 30 มีนาคม 2560
จุดตัด ส้ม-น้ำเงิน บูมรัชดา สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯจังก์ชันใหญ่แห่งแรกดันที่ดินพุ่ง

         รัชดาฯบูมสนั่น! รฟม.ผุดจังก์ชันใหญ่จุดตัดรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรก ระหว่างสายสีส้ม-น้ำเงินบริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ฟันธงที่ดินสูงเกินตร.ว.ละ 1 ล้านบาท ค่ายพฤกษา-เพอร์เฟค-โนเบิล ผุดคอนโดฯ ขายแล้ว บิ๊กทุนจ้องตาเป็นมันที่ดิน 2 แปลง 50 ไร่ "หมอพงษ์ศักดิ์-แหลมทอง"

          ปัจจุบันรัชดาภิเษกกลายเป็นย่านซีบีดีรองต่อจาก สีลมสาทร-สุขุมวิทราคาที่ดินแพงและหายาก และด้วยศักยภาพของถนนวงแหวนรอบในเชื่อมโยงถึงจรัญสนิทวงศ์  ฝั่งธนบุรี ก่อนวกกลับมาจุดเดิม ทำให้ดีเวลอปเปอร์เกาะเกี่ยวการพัฒนาไปตามแนวถนนประกอบกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สีน้ำเงินพาดผ่านส่งผลให้คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานและค้าปลีกขยับออกจากซีบีดีหลักมา ปักธงทำเลดังกล่าวมากขึ้น

          นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้ทำเลถนนรัชดาภิเษกคึกคักมาก เนื่องจากมีจุดตัดของรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สาย แห่งแรกของประเทศไทย คือ สายสีส้ม  ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี กับรถไฟฟ้าใต้ดิน เอ็มอาร์ที สายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อนาคตสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯจะเป็นจังก์ชันใหญ่ เหมือนประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ที่ นอกจากเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายเส้นทางรถไฟฟ้าแล้วอนาคตรัศมีโดยรอบจะเป็นย่านพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่

          ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวมีการพัฒนาเกือบเต็มพื้นที่แล้วเนื่องจากมีเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงินเกิดขึ้นก่อน อาทิ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท, บมจ. เอพี, บมจ. พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค และบมจ.โนเบิล 2 อาคารที่เปิดขายแล้วและอีกอาคารอยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นของบมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ นอกจากนี้ยังมีบมจ.ศุภาลัยพัฒนาโครงการ ติดศูนย์วัฒนธรรมฯ ขณะที่ ค่ายจีแลนด์พบว่ามีการนำโครงการร้างมาพัฒนาใหม่ รองรับสายสีส้ม เป็นต้น

          อย่างไรก็ดีที่ดินติดสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯสายสีส้มยังมีที่ดินว่างเปล่าคือ ของ น.พ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร 33 ไร่  และ ค่ายแหลมทองสหการ 18 ไร่  2 แปลงรวมกัน 50 ไร่ ทั้งนี้ มองว่า บริษัทพัฒนาที่ดิน สนใจแต่เชื่อว่า เจ้า ของน่าจะไม่ขายขณะที่ราคาที่ดินล่าสุดติดสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯสายสีส้มและสีน้ำเงินรวมทั้งสถานีพระราม 9 บริเวณห้างเช็นทรัลราคา 1 ล้านบาทต่อตารางวาขณะนี้สายสีส้มยังไม่เซ็นสัญญา แต่หากตอกเข็มก่อสร้างจะขยับขึ้นอีกแน่และอีก 5 ปีนับจากนี้หากสายสีส้มเปิดให้บริการราคาจะขยับไปไกลกว่านี้

          ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินขยับคือ ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวมกทม. ให้ค่าเอฟเออาร์ หรือ สัดส่วนพื้นที่อาคารต่อที่ดิน เป็น 10 ต่อ 1 หรือ ย่านพาณิชยกรรม จากปัจจุบันเป็นย่านที่อยู่อาศัยพัฒนาได้ 6-7 เท่าของแปลงที่ดิน

          อนาคตย่านนี้ จะเป็นเหมือนถนนออร์ชาดประเทศสิงคโปรที่กลางวันเป็นย่านช็อปปิ้งและแหล่งงาน ส่วนกลางคืนจะเป็นที่อยู่อาศัย ในคราวเดียวกัน

          นายเลิศมงคลกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน จุดตัด บริเวณอโศกและสุขุมวิท แต่เป็นรถไฟฟ้าบนดินบีทีเอสและใต้ดินเอ็มอาร์ที แต่ก็มีเทอร์มินอล 21 ไปปักธง รวมถึงอนาคต ส่วนสถานีหมอชิต และสถานีจตุจักรที่ บีทีเอสและ เอ็มอาร์ทีตัดกัน หาก ที่ดินธนารักษ์พัฒนาก็จะเป็นคอมเพล็กซ์ใหญ่ อีกทั้ง  สถานีกลางบางซื่อ ชุมทาง รถไฟฟ้า 12 เส้นทาง ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นย่านพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ในอนาคต

          สำหรับราคาที่ดิน รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนนุชเดิมตารางวา 3-4 หมื่นบาท ขณะนี้ 3 แสนบาทต่อตารางวา สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ สายสีน้ำเงิน ตารางวา 1 ล้านบาท จากเดิม 1-2 แสนบาทต่อตารางวา ขณะที่สายสีม่วง ทำเลรัตนาธิเบศร์ เดิมตารางวาละ 2-3 หมื่นบาท ขณะนี้ ตารางวาละ 3 แสนบาท ซึ่งขยับขึ้น 10 เท่าตัว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ