สศช.เสนอแผน15ปี ปั้นฉะเชิงเทรารับอีอีซี
สศช.รับนโยบาย "สมคิด" ดันฉะเชิงเทราเมืองศูนย์ราชการ - ที่อยู่อาศัยชั้นนำ รองรับลงทุนอีอีซี เตรียมถอดแบบปุตราจายา มาเลเซีย เป็นต้นแบบ เตรียมทำแผนพัฒนาระยะ 15 ปี เสนอบอร์ดอีอีซีที่นายกฯเป็นประธานพิจารณา
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดแผยว่า สศช.ได้รับมอบนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในการเตรียมความพร้อมของการวางแผนการจัดตั้งและพัฒนาพื้นที่บริเวณ จ.ฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เป็นเมืองศูนย์ราชการเพื่อรองรับการขายตัวของโครงการอีอีซีและรองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานครที่เพิ่มมากขึ้น
จากการประชุมร่วมกันกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ขอสรุปเบื้องต้นว่าการพัฒนาเมืองฉะเชิงเทราเป็นเมืองศูนย์ราชการ สามารถทำได้ใน 2 ลักษณะคือ 1.จัดตั้งเป็นเมืองศูนย์ราชการระดับภาค เพื่อเป็นศูนย์รวมการบริหารราชการของการสนับสนุนการเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ที่ทันสมัยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งรองรับการอยู่อาศัยที่มีมาตรฐานนานาชาติ
และ2.จัดตั้งเป็นเมืองศูนย์ราชการระดับประเทศ โดยการวางแผนพัฒนาจะครอบคลุมการสร้างเมืองใหม่ที่มีการวางแผนและออกแบบอย่างมีแบบแผนและทันสมัยให้เป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ และย้ายที่ตั้งของส่วนราชการสำคัญมาอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยใช้รูปแบบของเมืองปุตราจายา (Putrajaya) ประเทศมาเลเซีย เป็นกรณีตัวอย่างในการศึกษา
อย่างไรก็ตามการวางแผนจัดตั้งเมืองเมืองศูนย์ราชการระดับประเทศจะเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องมีการวางแผนไม่น้อยกว่า 15 ปี และจำเป็นต้องมีการศึกษาจัดทำแผนแม่บท การจัดหาที่ดิน การจัดตั้งบริษัทระดมทุน การก่อสร้าง การโยกย้ายหน่วยราชการ และอาจจำเป็นต้องมีกฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ตามแผนที่วางไว้
"การพัฒนาเมืองใหม่โดยเฉพาะที่เป็นเมืองที่เป็นศูนย์ราชการควรมีแผนแม่บทรองรับอย่างชัดเจน ดังนั้นควรมีการจัดทำแผนการพัฒนาเมืองฉะเชิงเทราในระยะสั้น ระยะกลาง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป"
สำหรับฉะเชิงเทราจะเป็นเมืองเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยมีรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นตัวเชื่อมการเดินทาง จะพัฒนาให้เป็นเมืองพักอาศัยชั้นดี มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่และทันสมัย รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ใหม่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงรองรับความเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ และอีอีซี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ และอีอีซี
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ