'บีทีเอส'กุมงาน2แสนล. สร้างรถไฟฟ้า-เดินรถในเมือง
Loading

'บีทีเอส'กุมงาน2แสนล. สร้างรถไฟฟ้า-เดินรถในเมือง

วันที่ : 24 เมษายน 2560
'บีทีเอส'กุมงาน2แสนล. สร้างรถไฟฟ้า-เดินรถในเมือง


         
นพวรรณ เตชะเสนีย์

          "บีทีเอส"กุมงานใหญ่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า-เดินรถในเมืองรายเดียว กว่า 2 แสนล้าน แจงจุดเด่นสายสีชมพู-สีเหลืองสามารถเชื่อมต่อการเดินรถได้ เดินหน้าพัฒนาอสังหาฯจับมือ"แสนสิริ"ลงทุนที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้าเพิ่ม

          แม้สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาจะชะลอตัว แต่รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะรถไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น แต่ยังมีเส้นทางไม่เพียงพอกับความต้องการ ของประชาชน

          "บีทีเอส"ผู้บุกเบิกรถไฟฟ้าสายแรกของไทย พร้อมเดินหน้าลงทุน เพื่อขยายอาณาจักรตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะในรัฐบาลนี้ซึ่งมี นโยบายจะเพิ่มระยะทางรถไฟฟ้า จาก 100 กิโลเมตร(กม.) ให้เป็น 500 กม.ในอนาคต

          ล่าสุดเมื่อต้นปี 2560 กรุงเทพมหานคร (กทม.)เพิ่งลงนามว่าจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายระยะทาง 31.5 กม.ไปจนถึง ปี 2585 และบีทีเอสยังกำชัยชนะในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ระยะทาง 65 กม. วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เล่าว่า ตอนนี้บีทีเอสเดินรถในเส้นทาง สายสีเขียวอ่อน สายสุขุมวิท หมอชิต-แบริ่ง ระยะทาง 22 กม. และสายสีเขียวเข้ม สายสีลม- สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ระยะทาง 14.2 กม. มีผู้โดยสารเฉลี่ย 700,000 คนต่อวัน แต่ช่วงวันศุกร์จะมีหนาแน่นถึง 800,000 คนต่อวัน ขณะเดียวกันคาดว่า ปีนี้ปริมาณผู้โดยสารจะขยายตัวอีก 3-5%

          ปัจจัยหลักมาจากปัญหาจราจร ในเมือง ประกอบกับค่าโดยสารของ รถไฟฟ้าบีทีเอส อยู่ในระดับที่ประชาชนรับได้ มีการเชื่อมต่อกับอาคารต่างๆ ทำให้สะดวกต่อการเดินทาง

          จากการเติบโตดังกล่าว บีทีเอสจึง ตัดสินใจเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารด้วยการสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มกว่า 40 ขบวน เมื่อปลายปี 2559 จะเริ่มทยอยรับมอบรถตั้งแต่ต้นปี 2561 ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบขายบัตรโดยสารแบบเที่ยวเดียว จะแล้วเสร็จกลางปี 2561 เช่นกัน

          กว่า2แสนล้านในมือบีทีเอส

          เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว กทม. ได้ลงนามว่าจ้างบีทีเอส ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม.และช่วงหมอชิต- สะพานใหม่-คูคต ระยะ 18.7 กม. เป็นระยะเวลา 25 ปี วงเงิน 1.649 แสนล้านบาท หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะเปิดเดินรถช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการได้ก่อนในกลางปีหน้า

          สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,519 ล้านบาท และรถไฟฟ้า สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,931 ล้านบาท ที่บีทีเอส ชนะการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ในนามกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) นั้น ปัจจุบัน เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการประมูล คาดจะมีการลงนาม สัญญากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย (รฟม.) ในช่วงต้นเดือนพ.ค. นี้

          "ถ้าลงนามสัญญาเดือน พ.ค. แล้ว ก็ต้องรอให้ รฟม. ส่งมอบพื้นที่ก่อน จึงจะเริ่มก่อสร้างได้ ปัญหาที่เจอคือการเข้าพื้นที่ บางจุดก็ต้องเจรจาเพิ่มเติม ส่วนการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี 3 เดือน แต่ถ้า ช่วงไหนเสร็จก่อนก็จะทยอยเปิดให้ บริการ เพราะสัญญาเปิดช่องให้ทำได้ เราก็เตรียมความพร้อมเรื่องพวกนี้ไว้แล้ว" นายสุรพงษ์ กล่าว

          ผลการศึกษาของบีทีเอสระบุว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู จะมี ผู้ใช้บริการราว 100,000-200,000 คนต่อวัน ต่อเส้นทาง ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของ รฟม. เล็กน้อย ส่วนอัตราค่าโดยสารทั้ง 2 โครงการถูกกำหนดไว้ที่ 14-42 บาทต่อเที่ยวคน แต่เมื่อเปิดบริการก็ต้องนำดัชนีผู้บริโภค (CPI) มาคำนวณเพิ่ม อัตราค่าโดยสารก็คงไม่เพิ่มจากเพดานเดิมมากนัก เพราะปัจจุบัน CPI เพิ่มเพียง 1% ต่อปี แต่ถ้าอนาคตรถไฟฟ้าสายต่างๆ เชื่อมต่อกันก็น่าจะช่วยให้ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ภาพรวมดีขึ้น

          ชี้จุดเด่นเชื่อมต่อ2โครงการ

          จุดเด่นของโครงการทั้ง 2 แห่งคือการเชื่อมต่อ รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีจุดตัดกับสายสีเขียวที่สถานีวงเวียนหลักสี่ ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียวกันได้ โดยไม่ต้องออกจากระบบ เพราะบีทีเอสเป็น ผู้เดินรถทั้ง 2 เส้นทาง

          ส่วนสายสีชมพูยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงบริเวณแครายและเชื่อมต่อกับ สายสีส้มที่มีนบุรี ด้านรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ก็เชื่อมกับรถไฟฟ้าสีเขียวที่สำโรง เชื่อมกับสายสีน้ำเงินบริเวณลาดพร้าว และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีแดงด้วย

          สำหรับรถไฟฟ้าสายเหลือง มีข้อดีเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะผ่ากลางย่านลาดพร้าวที่เป็นชุมชนหนาแน่น แต่มีข้อด้อยเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เต็มหมดแล้ว

          จ่อลงทุนต่อเนื่องอสังหาฯ

          ส่วนสายสีชมพูอาจด้อยกว่าเรื่องการเติบโตของผู้โดยสาร แต่รถไฟฟ้าสายนี้ผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ, อิมแพค เมืองทองธานี และ ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ซึ่งจะกระตุ้น การเดินทางได้ และยังมีจุดเด่นเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะชุมชนยัง ไม่หนาแน่นมาก โดยเฉพาะย่านรามอินทรา ซึ่งมีพื้นที่แปลงใหญ่เหลืออีกมาก แต่ทั้ง 2 โครงการจะทำให้บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)หรือ VGI ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือบีทีเอส มีพื้นที่ขายโฆษณาบนรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแน่นอน

          "เรามีแผนธุรกิจต่อเนื่อง ตอนนี้ที่ดินก็มีคนมาเสนอเยอะ แต่เราต้องเลือกตรงที่มีศักยภาพในการลงทุน ราคาไม่สูงจน เกินไปเราก็คงซื้อไว้ แต่การลงทุนอสังหาฯ ขึ้นอยู่กับทำเลเป็นสำคัญ บีทีเอสจึงจับมือกับแสนสิริเป็นพันธมิตรในการลงทุนที่อยู่อาศัย บีทีเอสจึงมองการทำธุรกิจที่มีผมตอบแทนระยะยาวด้วย เราก็จับมือกับบริษัทยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาโครงการอสังหาฯ อื่นๆ" นายสุรพงษ์ กล่าว

          ตอนนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด เพราะ บีทีเอสได้ยื่นข้อเสนอซองที่ 3 หรือข้อเสนอเพิ่มเติมในการประมูลทั้ง 2 โครงการ โดยสัญญาที่บีทีเอสจะลงนามกับ รฟม. ใน ต้นเดือน พ.ค. จะระบุว่า บีทีเอสต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนจึงเริ่มก่อสร้างตามข้อเสนอซองที่ 3 ได้

          สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บีทีเอสยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมว่าจะสร้าง ส่วนต่อขยายจากถนนรัชดาภิเษก เพื่อ เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวบริเวณแยก รัชโยธินเป็นระยะทาง 2.6 กม. มูลค่า 3,000 ล้านบาท เพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเชื่อมกับสายสีเขียวทั้งช่วงหัวและท้ายของเส้นทาง โดยบีทีเอสจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด

          นอกจากนี้ เสนอให้สร้างส่วนต่อขยาย จากรถไฟฟ้าสายสีชมพูระยะทาง 2.8 กม. ไปยังอาคารอิมแพค และทะเลสาบในเมืองทองธานี มูลค่า 2,500 ล้านบาท แต่บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) จะช่วยลงทุนครึ่งหนึ่ง

          สำหรับขั้นตอนที่บีทีเอสต้องดำเนินการ เป็นการจัดทำรายงานผลกระทบทาง สิ่งแวดล้อม (EIA) ประมาณ 1 ปีครึ่งเพื่อให้เสร็จก่อนการก่อสร้างโครงการหลัก และต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าใช้พื้นที่ เพราะสายสีเหลืองต้องก่อสร้างบนถนนรัชดาของ กทม. และ สายสีชมพูต้องเจรจากับการทางพิเศษ แห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมถึงต้องเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) เห็นชอบเพื่อบรรจุข้อเสนอลง ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า

          "จุดเด่นการเชื่อมต่อ สายสีชมพูมีจุดตัดกับสายสีเขียว สายสีชมพูยังตัดกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีส้ม"

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ