รฟม.ล็อกบีอีเอ็มกินรวบสีน้ำเงินอ้างประโยชน์สูงสุด'ประชาชน'
Loading

รฟม.ล็อกบีอีเอ็มกินรวบสีน้ำเงินอ้างประโยชน์สูงสุด'ประชาชน'

วันที่ : 25 เมษายน 2560
รฟม.ล็อกบีอีเอ็มกินรวบสีน้ำเงินอ้างประโยชน์สูงสุด'ประชาชน'

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 เม.ย. ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายธีระพันธ์ เตชวนิจกุล รักษาการผู้ว่าการรฟม. พร้อมนายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ รฟม. (วิศวกรรมและก่อสร้าง) และฝ่ายบริหารชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยความไม่ชอบมาพากลในการต่อสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ)  ดังนี้ มีความผิดปกติในขั้นตอนของสัญญาบางอย่าง แทนที่จะเป็นลักษณะของการประกวดราคาตามแผนงานปกติ แต่กลับมีการใช้วิธีเจรจาต่อรอง และที่ประชุม ครม.มีมติไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีรายละเอียดของสัญญาเหมือนล็อบบี้โครงการและสัญญาที่ทำกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (บีอีเอ็ม) ระบุให้รฟม. สนับสนุนบีอีเอ็มได้รับการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ทำให้บริษัทรับผลประโยชน์สูงสุด ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรทั้งหมดและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

นายภคพงค์กล่าวว่า รฟม.ให้บริษัทบีอีเอ็มเดินรถต่อเนื่องตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 42/2559 เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สามารถเปิดให้บริการประชาชนโดยเร็ว โดยคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพงบางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ตามมาตรา 35 และคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ร่วมกันเจรจาบีอีเอ็มจนได้ข้อยุติและนำ เสนอ ครม.เห็นชอบผลการคัดเลือกในรูปแบบ PPP Net Cost เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และขยายเวลาการเดินรถสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลที่วิ่งอยู่ปัจจุบันให้สิ้นสุดระยะเวลาเดียวกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ในปี 93 ให้เดินรถต่อเนื่องและเชื่อมต่อประชาชนใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเดินรถต่อเนื่องต้องเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว กำหนดค่าโดยสาร 16-42 บาท แม้จะเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทั้งระบบ 38 สถานีค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าตกลงกับบีอีเอ็ม แบ่งประโยชน์ให้รัฐต่อเมื่อมีผลตอบแทนลงทุนเกิน 9.75% ส่งผลให้รัฐเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ไม่มีบริษัทใดในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำกำไรได้เกิน 8% นั้น รฟม. ขอชี้แจงว่าการคำนวณผลตอบแทนการลงทุนที่เอกชนจะได้รับในภาคธุรกิจและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ 12% แต่เนื่องจากโครงการนี้ผู้เดินรถรายเดิมเป็นผู้ให้บริการอยู่แล้วจึงมีความเสี่ยงในการดำเนินการต่ำกว่ารายอื่น จึง ต่อรองที่ 9.75% เป็นประโยชน์ต่อรัฐหากเกิน 9.75% จะแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐตามที่ตกลงกัน และหากผลตอบแทนไม่ถึง 9.75% บีอีเอ็มจะรับความเสี่ยงแทนรัฐทั้งหมด โดยทั่วไประดับอัตราผลตอบแทนสูงกว่า 10% ส่วนพื้นที่ 20 ไร่ อาคารศูนย์ซ่อมบำรุง ห้วยขวาง ที่บีอีเอ็มได้ก่อสร้างนั้นต้องใช้อาคารเพิ่มต้องเพิ่มคนขึ้นเป็นเท่าตัวและอยู่ในข้อตกลงของผู้รับสัมปทานต้องลงทุน และโอนทรัพย์สินให้ รฟม. รฟม.ไม่ได้มีจุดประสงค์ เอื้อเอกชน

ด้าน ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)กล่าวว่าการให้เอกชนเดินรถต่อเนื่องนั้นรัฐบาลพิจารณาหลักการต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนแล้ว คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ