ลุ้นผลศึกษา ไจก้า พัฒนาสถานีไฮสปีด
Loading

ลุ้นผลศึกษา ไจก้า พัฒนาสถานีไฮสปีด

วันที่ : 4 พฤษภาคม 2560
ลุ้นผลศึกษา ไจก้า พัฒนาสถานีไฮสปีด

"อาคม" ลุ้นไจก้าเผยผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาสถานีไฮสปีดเทรนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ คาดชัดเจนรูปแบบกลางปีนี้ นักวิชาการผังเมืองแนะจับตายุทธศาสตร์ญี่ปุ่นพัฒนา เชื่อมเชียงใหม่อยุธยา-พัทยา-ระยอง ผลิตป้อนให้ญี่ปุ่น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้เร่งติดตามความคืบหน้าผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ที่ดำเนินการศึกษารูปแบบการพัฒนาพื้นที่แต่ละสถานีในโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลกเชียงใหม่เพื่อให้โครงการมีมูลค่าและคุ้มค่าด้านการลงทุนจากการพัฒนาพื้นที่แต่ละสถานีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้มีการประชุมร่วมกับไจก้าในการศึกษาแผนแม่บทระบบรางระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 ว่า ในเดือนกันยายนนี้ทางไจก้าจะนำทีมงานเข้ามาเวิร์กช็อปตัวโครงการที่กรุงเทพมหานคร โดยทางไจก้าต้องการที่จะเร่งรัดการจัดทำแผนให้ฝ่ายไทย ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ฝ่ายไทยต้องการเสนอแผนแม่บทให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนที่จะลงพื้นที่เพื่อสำรวจและจัดทำรายละเอียดแต่ละโครงการ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 1 ปี โดยเนื้อหาหลักในการศึกษาครั้งนี้ก็เพื่อตรวจสอบว่าโครงการรถไฟฟ้า 10 สายที่มีอยู่เพียงพอต่อระบบโครงข่ายหรือไม่ และหากมีการขยายของเมืองออกไปอีกต้องเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้าอีกกี่เส้นทาง ซึ่งอาจไม่ตรงกับแผนเดิมที่เคยทำไว้

นอกจากนี้ทางไจก้ายังได้มาเสนอแผนการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้ากับทั้ง 3 ท่าอากาศยานหลักของไทย ซึ่งขณะนี้ก็ยังเป็นเพียงแค่รับฟังเท่านั้น เพราะต้องรอให้ที่ปรึกษาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำการสำรวจและออกแบบให้แล้วเสร็จเสียก่อน คาดว่าจะไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้ หากผลการศึกษาสอดคล้องกันก็อาจมีความร่วมมือระหว่างฝ่ายไทยและญี่ปุ่นในโครงการนี้ แต่ในเบื้องต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ- ระยองก็คงต้องชะลอออกไปก่อนเพื่อรอผลการศึกษาให้แล้วเสร็จ

"ไจก้าได้นำเสนอแนวคิดการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ - ระยอง และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เข้าด้วยกันอีกทั้งยังจะเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่อุตสาหกรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านกรุงเทพ มหานครและภาคตะวันออก นอกเหนือจากช่วยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการพัฒนารถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการใช้โครงสร้างที่มีอยู่แล้วของ Airport Rail Link ให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

ด้านรศ.มานพ พงศทัต ศาสตราภิชาน ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ารัฐบาลจะต้องลงลึกในรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นให้ลึกซึ้งโดยเฉพาะการพัฒนาแนวเส้นทางนอกเหนือจากจะเกิดประโยชน์ต่อโครงการด้านการคมนาคมขนส่งแล้วยังเชื่อมโยงเชียงใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไปท่องเที่ยวแต่ละปีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีนักธุรกิจญี่ปุ่นและมีโครงการที่อยู่อาศัยของญี่ปุ่นหลายโครงการทั้งเชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรีและระยอง

นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงกับแหล่งอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่อยู่ในโซนพื้นที่จังหวัดพระนคร ศรีอยุธยาอีกหลายโครงการ ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไทย นอกเหนือจากพื้นที่กรุงเทพมหานครยังเชื่อมกับพื้นที่พัทยา ชลบุรีที่มีกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในโซนพื้นที่ภาคตะวันออกจำนวนมาก โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้ขนส่งออกสู่ท่าเรือแหลมฉบังไปยังประเทศต่างๆได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น

"ฝ่ายญี่ปุ่นมาดำเนินการให้ฟรีแต่คงอยากให้บริษัทต่างๆในญี่ปุ่นได้รับสิทธิ์ดำเนินโครงการนี้บ้างทั้งการก่อสร้างหรือด้านอื่นๆ อาทิการก่อสร้าง การผลิตขบวนรถ ฯลฯ นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวและประชาชนชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย ดังนั้นผังเมืองต้องให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเพราะเป็นการพัฒนาในผังพื้นที่เฉพาะอาจจะไม่เหมือนกับที่ญี่ปุ่นดำเนินการในญี่ปุ่นได้ทั้งหมดเพราะไทยยังคงมีเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป อาทิ เชียงใหม่ สุโขทัย อยุธยา จึงต้องหารือร่วมกับผังเมือง นักธุรกิจ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ให้ชัดเจน เปิดรับฟังความเห็นประชาชนให้ได้ข้อสรุปแล้วจึงเร่งผลักดันต่อไป"

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ