อาคม เบรก ต่อขยายสีเขียว รอกทม.โอนหนี้
Loading

อาคม เบรก ต่อขยายสีเขียว รอกทม.โอนหนี้

วันที่ : 6 พฤษภาคม 2560
อาคม เบรก ต่อขยายสีเขียว รอกทม.โอนหนี้

"อาคม" เบรกเสนอโครงการก่อสร้าง สายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง มูลค่า รวม 2.1 หมื่นล้านบาท ชี้ต้องการให้ รฟม.-กทม. เคลียร์เรื่องโอนหนี้-ทรัพย์สินสายสีเขียวก่อน ขณะสคร.เผยปีนี้งบลงทุนรัฐวิสาหกิจลด 2.2 หมื่นล้านบาท หลังโครงการลงทุนรถไฟรางคู่เลื่อนออกไป

การโอนหนี้สินและสินทรัพย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  มูลค่า 60,815 ล้านบาท ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ส่งผลให้ต้องชะลอโครงการส่วนต่อขยายทั้ง 2 เส้นทาง

ส่วนต่อขยายในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว  2 เส้นทาง  คือ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กิโลเมตร วงเงิน 12,146 ล้านบาท และช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร วงเงิน 9,803 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action plan) ปี 2560

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการรฟม. ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ รฟม. กล่าวภายหลังการประชุมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานวานนี้ (5 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมฯ มีมติให้ชะลอการ นำเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เนื่องจากต้องการให้ การโอนหนี้สินและทรัพย์สินมี ความชัดเจนก่อน

"อีกทั้งมองว่าหากกทม. รับโอน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก รฟม. ไปแล้ว ก็ควรเป็นผู้พิจารณาลงทุนส่วนต่อขยายด้วยตัวเอง"

ทั้งนี้ตามแผนเดิมทาง กระทรวงคมนาคมกำหนดจะสรุปรายละเอียดเพื่อเสนอเข้าครม. ในเดือน มิ.ย.นี้

ขอความชัดเจนคลังเรื่องงบประมาณ

นายธีรพันธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ กทม. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว มูลค่า 60,815 ล้านบาทจาก รฟม. ว่า นายอาคมจะหารือเรื่องนี้กับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามรายละเอียดและความชัดเจนต่างๆ เพราะกระทรวงการคลังมีอำนาจหลักในการพิจารณา ว่าจะให้งบประมาณกับกทม.หรือไม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมตัดสินใจชะลอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และคูคต-ลำลูกกา ไว้ก่อนเพื่อไม่เกิดปัญหา เนื่องจากถ้า กทม. รับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปแล้ว อาจไม่เห็นด้วยกับการลงทุนส่วนต่อขยายทั้ง 2 เส้นทาง เพราะจำนวนผู้โดยสารของส่วนต่อขยายมีไม่มาก

สคร.ชี้งบลงทุนรสก.ลด 2.2หมื่นล.

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รอง ผู้อำนวยการสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจโดยรวมจะลดลงประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท หลังจากที่การลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ต้องเลื่อนออกไป

ทั้งนี้ งบลงทุนรวมของรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนรวม 45 แห่ง มีมูลค่า 3.64แสนล้านบาท แต่ล่าสุดสภาพัฒน์ได้ตัดงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจลงเหลือ 3.42 แสนล้านบาท โดยงบลงทุนส่วนที่ลดลงไปนั้น เป็นของโครงการรถไฟทางคู่เป็นส่วนใหญ่

เลื่อนเบิกจ่ายทางคู่เหตุรื้อทีโออาร์

โครงการรถไฟทางคู่ ที่ทาง ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อที่มีนายประสารไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน ได้สรุปว่า ให้เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการรถไฟรางคู่ 5 เส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ใหม่ทำให้แผนการลงทุนในโครงการนี้ ที่เริ่มคาดว่า จะสามารถเริ่มเบิกจ่ายงบลงทุนได้ในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ จำเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นเบิกจ่ายในปีงบประมาณหน้าหรือปีงบประมาณ2561

ภาพรวมของการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจากต้นปีงบประมาณคือ 1 ต.ค.2559 จนถึง มี.ค. 2560 สามารถเบิก งบลงทุนออกไปแล้วรวม 6.35 หมื่นล้านบาท ขณะที่ แผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 6 เดือนของ อยู่ที่ 7.81 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามคาดว่า หลังจากนี้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุน ของรัฐวิสาหกิจจะเริ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีปฏิทิน ที่มีเม็ดเงินลงทุนในปีนี้รวม 1.96 แสนล้านบาท จะเริ่มทยอยเบิกจ่ายงบลงทุน ส่วนการเบิกจ่ายจะเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ 95%ตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง

รัฐวิสาหกิจส่งรายได้เกินเป้า9.5%

"สคร.มั่นใจว่าปีนี้จะจัดเก็บรายได้ แผ่นดินเป็นไปตามเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ2560พร้อมทั้ง สคร. จะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะส่งผลในการช่วยรักษาเสถียรภาพการคลังให้แก่ประเทศด้วย อีกทางหนึ่ง"

สำหรับการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 55 แห่งที่มีรายได้ให้แก่รัฐบาล ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.ถึงเม.ย.)  รัฐวิสาหกิจมีการนำส่ง 9.63 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 9.5%ขณะที่ เป้าหมายรายได้รัฐวิสาหกิจทั้งปีอยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์การนำส่งรายได้คาดว่า ทั้งปีนี้รัฐวิสาหกิจน่าจะนำส่งรายได้สูงกว่าเป้าหมายดังกล่าว

รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ สูงสุด ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดย 7 เดือนนำส่ง 2.12 หมื่นล้านบาท, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 1.62 หมื่นล้านบาท ธนาคารออมสิน 1.31 หมื่นล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง 7.04 พันล้านบาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ