สัมภาษณ์: 'อนุกูล ตังคณานุกูล' ผู้ว่าฯแปดริ้วแปงเมืองเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีรับอีอีซี
Loading

สัมภาษณ์: 'อนุกูล ตังคณานุกูล' ผู้ว่าฯแปดริ้วแปงเมืองเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีรับอีอีซี

วันที่ : 15 พฤษภาคม 2560
สัมภาษณ์: 'อนุกูล ตังคณานุกูล' ผู้ว่าฯแปดริ้วแปงเมืองเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีรับอีอีซี

จังหวัดฉะเชิงเทราเป็น 1 ใน 3 จังหวัดของการเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC) ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยรัฐบาลมีนโยบายให้ 3 จังหวัดเป็นพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเป็นการต่อยอดจาก 5 อุตสาหกรรมเดิมให้เป็น New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การบินและโลจิสติกส์ ท่องเที่ยวไฮเอนด์และเชิงสุขภาพ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยแต่ละจังหวัดเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโต

แหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดี

"อนุกูล ตังคณานุกูล" ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จังหวัดฉะเชิงเทราได้กำหนดทิศทางให้เป็นเมืองที่พักอาศัยชั้นดี ทันสมัย และเป็นมาตรฐานโลก เพื่อรองรับการขยายตัวจากกรุงเทพฯ เนื่องด้วยศักยภาพเดิมของจังหวัดที่มีชัยภูมิที่ดีทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองหลวง กรุงเทพฯ ที่มีประชากรจำนวนมาก และเริ่มขยายออกสู่จังหวัดรอบข้าง ทั้งนนทบุรี ปทุมธานี รวมถึงฉะเชิงเทรา ประกอบกับการเติบโตของจังหวัดชลบุรี จากเดิมเป็นเพียงเมืองท่องเที่ยว แต่เมื่อท่องเที่ยวบูม ทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยตามมา จึงทำให้ฉะเชิงเทราเติบโตตามอย่างต่อเนื่อง

โดยศักยภาพของจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นเป็นเสมือนศูนย์กลาง อยู่ใกล้กรุงเทพฯเพียง 60-70 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันมีมอเตอร์เวย์ช่วยร่นระยะทางเหลือเพียง 40 กม. และสร้างความสะดวกสบายมากขึ้น ลดระยะเวลาในการเดินทางลง อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางอากาศและทางเรือ เนื่องจากอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ 40 กม. สนามบินนานาชาติดอนเมือง 70 กม. และห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ประมาณ 70 กม.

ขณะเดียวกัน ฉะเชิงเทรายังเป็นเส้นทางหนึ่งที่โครงการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงผ่าน เชื่อมต่อสนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา และรัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ประชากรจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า หรือประมาณ 10 ล้านคน จากเดิมปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดมีประชากรทั้งหมด 2.4 ล้านคน รวมถึงเมื่อมีอุตสาหกรรม New S-Curve เข้ามา ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถสูง นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามา ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้สูง และต้องการที่พักชั้นดี ซึ่งก็จะตรงตามที่จังหวัดได้กำหนดทิศทางไว้

"ขณะนี้มีกลุ่มนักลงทุนอสังหาฯสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ทั้งกลุ่มอมตะที่ต้องการสร้างชุมชนใหม่ โดยจับมือกับนักลงทุนอสังหาฯของญี่ปุ่นมาร่วมลงทุน ซึ่งจะมีทั้งที่อยู่อาศัย ช็อปปิ้งมอลล์ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกลุ่มที่มีรายได้สูง เงินเดือนประมาณ 300,000 บาทขึ้นไป คาดว่าอสังหาฯที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณเส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงผ่าน เนื่องจากมีความสะดวกสบายรอบด้าน แทนที่คนกลุ่มนี้ จะต้องไปพักอยู่บริเวณสุขุมวิทและสีลม นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่มซีพีที่ให้ความสนใจ แต่อย่างไรก็ตามยังรอดูความชัดเจนว่ารถไฟความเร็วสูงจะผ่านบริเวณไหน"

ทั้งนี้ มีดีเวลอปเปอร์รายต่าง ๆ ทั้งท้อนถิ่นและส่วนกลางเข้ามาดูพื้นที่ ส่งผลให้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้น จากเดิมเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินสูงขึ้นค่อนข้างเร็วประมาณ 20% ดังนั้นเมื่อฉะเชิงเทราเป็นหนึ่งใน EEC จึงทำให้ที่ดินสูงขึ้นไปอีก เช่น เส้น 314 ฉะเชิงเทรา-บางปะกง ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ปี 2556 ราคาที่ดิน 6-8 ล้านบาท ปัจจุบันราคาที่ดินสูงถึง 18-20 ล้านบาท

เตรียมพร้อมรอนักลงทุน

พ่อเมืองฉะเชิงเทรากล่าวว่า แน่นอนว่าทิศทางการพัฒนาประเทศในพื้นที่ภาคตะวันออกกำลังจะโตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ดังนั้นเรื่องกำลังคนหรือบุคลากรจึงเป็นสิ่งสำคัญ จังหวัดจึงให้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เป็นแกนหลักในการทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ และโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ในการสร้างคนให้รองรับอนาคต โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างทัศนคติและความเข้าใจให้เห็นว่า 4.0 เป็นอย่างไร ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ตั้งงบประมาณขอรัฐบาล 250 ล้านบาท ขณะนี้รอการอนุมัติ

อีกปัญหาหนึ่งที่ฉะเชิงเทราประสบมาโดยตลอด คือเรื่องของอินฟราสตรักเจอร์ เนื่องจากการเติบโตเร็วกว่าการพัฒนา โดยเฉพาะปัญหารถติด และระบบสาธารณูปโภค จังหวัดจึงเสนอโครงการพัฒนาระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2562 รวมทั้งหมด 31 โครงการ งบประมาณกว่า 27,000 ล้านบาท ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาถนน น้ำประปา และไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเรื่องของการบริการด้วย เช่น ด้านสาธารณสุข เป็นต้น รวมทั้งศึกษาเส้นทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา หรือวงแหวนรอบที่ 2 เพื่อที่จะแยกรถขนส่งสินค้ากับรถทั่วไป ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร งบประมาณ 17,444 ล้านบาท ขณะนี้มีการศึกษาเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราเริ่มพูดคุยถึงเรื่องผังเมืองรวมจังหวัดที่เพิ่งประกาศ เพราะผังเมืองรวมจังหวัดไม่สอดคล้องกับการพัฒนา EEC เนื่องจากกรมโยธาธิการฯกำหนดมาตรฐานเดียว ไม่ได้แยกพื้นที่ที่มีนโยบาย EEC และมีการศึกษาก่อนที่นโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะเกิด ดังนั้น คาดว่าปี 2561 จะมีการทบทวนและเริ่มปรับปรุงเรื่องผังเมืองรวมจังหวัด เพื่อให้มีพื้นที่อุตสาหกรรมมากขึ้น และเพิ่มพื้นที่พาณิชยกรรมเพื่อรองรับปริมาณคนที่มาอยู่มากขึ้น ใช้งบประมาณในการศึกษาประมาณ 10 ล้านบาท

ประมง-เกษตรรับอานิสงส์

"อนุกูล" กล่าวอีกว่า พื้นฐานของจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเมืองเกษตรกรรม มีผลไม้ที่ขึ้นชื่อและส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าวน้ำหอม ประกอบกับเป็นแหล่งผลิตปลากะพงและไข่ไก่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นแหล่งผลิตสุกรอันดับ 2 รองจากจังหวัดนครปฐม เพราะฉะนั้น แหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศไทยอยู่ที่ฉะเชิงเทรา จังหวัดจึงมุ่งยกระดับให้เป็นเกษตรปลอดภัยสูง หรือผักเบอร์ 8 และเนื้อสุกรเบอร์ 8 โดยปลอดภัยจากสารเคมี ตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีรายได้สูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นจากการจำหน่ายสินค้า คุณภาพสูง

อีกทั้งจังหวัดจะพื้นฟูวัฒนธรรมให้ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คุณภาพ และนิเวศ เช่น ตลาดคลองสวนร้อยปี ตลาดน้ำบางคล้า เป็นต้น และไม่เพียงแต่เป็นการรำหรือการแสดงเท่านั้น แต่รวมถึงด้านอาหารการกินด้วย โดยจังหวัดจะจัดอบรมให้ความรู้การทำอาหารแบบเก่าที่หายาก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรยังมีความกังวลว่าการพัฒนาจังหวัดจะกระทบกับเกษตรกรรมหรือไม่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องคิด ว่าทำอย่างไรให้คงศักยภาพเดิม พร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด เพื่อให้การพัฒนาเดินหน้าไปพร้อมกันได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ