ดึง ญี่ปุ่น ร่วมอีอีซีผุดมาสเตอร์แพลนพัฒนาซีแอลเอ็มวีที
"สมคิด"นำทีมเศรษฐกิจเยือนญี่ปุ่น หารือกระชับความร่วมมือ 8 ด้าน ครอบคลุม อีอีซี ระบบราง ทรัพยากรบุคคล เอสเอ็มอี พร้อมริเริ่มแผนพัฒนามาสเตอร์แพลน ซีแอลเอ็มวีที
ญี่ปุ่น นักลงทุนอันดับต้นๆ ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมายาวนาน จึงเป็น เป้าหมายสำคัญที่รัฐต้องการให้นักลงทุน เหล่านี้ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 4-8 มิ.ย.2560 ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะนำ คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 5 มิ.ย. จะมีการประชุม คณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (Thailand-Japan High Level Joint Commission : HLJC) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีไทยจะเป็นประธานร่วมในการประชุม
ทั้งนี้ ในการประชุมจะหารือใน 8 ประเด็นที่สำคัญ ประเด็นแรก เรื่องความร่วมมือในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งไทยจะเสนอให้ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนหลักในการพัฒนา อีอีซี และส่งเสริมการตระหนักรู้ในหมู่นักลงทุนญี่ปุ่น เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของอีอีซีซึ่งในส่วนนี้จะลงนามระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยและกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเพื่อแสดงความร่วมมือการพัฒนาอีอีซี
ดันแผนแม่บท CLMVT
ประเด็นที่ 2 แผนแม่บทเพื่อพัฒนาประเทศCLMVT ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย โดยทั้งไทยและญี่ปุ่นเห็นพ้องว่าขณะนี้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงคือเครื่องจักรสำคัญของ อาเซียนและเอเชีย แต่ยังมีความแตกต่างด้านการพัฒนา ในโอกาสที่ฝ่ายไทยจะเป็นประธานกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทาง เศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่น้ำโขง (ACMECS) ระหว่างเดือนมิ.ย. 2560-มิ.ย. 2561 จึงจะจัดทำแผนแม่บท CLMVT (CLMVT Master Plan) เพื่อเสริมสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อนุภูมิภาคโดยเชิญชวนให้ญี่ปุ่นมีบทบาทในการจัดทำแผนแม่บท ดังกล่าวในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
หารือพัฒนา"ระบบราง"
นายณัฐพร กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 ที่จะหารือเป็นเรื่องการพัฒนาระบบรางในไทย โดย 2 ฝ่ายจะประเมินความคืบหน้าของความร่วมมือด้านระบบรางโดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็นของญี่ปุ่น รวมถึงการพิจารณาใช้เทคโนโลยีระบบรางของญี่ปุ่นในการพัฒนารถไฟในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งการพัฒนาระบบราง เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก- ตะวันตก ซึ่งในการประชุมจะลงนามระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเพื่อเริ่มความร่วมมือด้านระบบรางฉบับใหม่ด้วย
ในส่วนของประเด็นที่ 4 หารือความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสอง (SMEs) เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและประสบการณ์ของSMEs ญี่ปุ่นมาสู่ SMEs ของไทยโดยเน้นรายสาขา ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ของไทยเช่นเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ
ประเด็นที่5 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทางฝ่ายญี่ปุ่นจะเสนอข้อริเริ่ม "Thailand Japan Industrial Human Resource Development Initiative" เพื่อช่วย พัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยประกอบด้วยการนำบุคลากรด้านวิศวกรรมของไทยไปฝึกอบรมที่ญี่ปุ่น
ประเด็นที่ 6 การพัฒนาสถานีอ้างอิงและปรับแก้ข้อมูลดาวเทียมนำทาง (CORS) ในไทย โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะผลักดันให้ไทยพิจารณาใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่นในการพัฒนาสถานี CORS โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล รวมและพัฒนาบุคลากรไทย
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ฝ่ายไทย สนใจที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาสร้างเครือข่ายสถานีอ้างอิงพิกัดในไทยเพื่อให้เป็นระบบสำหรับการบริหารจัดการด้านเกษตรและคมนาคมของไทยในอนาคตซึ่งในครั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทยและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว ของญี่ปุ่นจะลงนามบันทึกความร่วมมือนี้
ผนึกร่วมมือสารสนเทศ
สำหรับประเด็นที่ 7 เป็นความร่วมมือเรื่องสารสนเทศและ การสื่อสารสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือในสาขาสารสนเทศและการสื่อสารโดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) แผนป้องกันโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญการพยากรณ์อากาศและการเตือนภัยพิบัติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาสารสนเทศและการสื่อสารและความร่วมมือด้านไปรษณีย์และครั้งนี้ก็จะมีการลงนาม ความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ ของไทยกับ กระทรวงกิจการ ภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นด้วย
เล็งทบทวนความตกลงJTEPA
ประเด็นสุดท้าย คือ การหารือถึงการทบทวนทั่วไปความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยที่ในปี 2560 จะครบรอบ 10 ปีของกรอบความร่วมมือ ซึ่งในความตกลงระบุให้มีการทบทวนทั่วไป (General Review) ซึ่งที่ประชุมจะเห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศ ของ 2 ฝ่ายหาโดยการต่อไปถึงการจัดประชุมคณะกรรมาธิการ (JointCommission) เพื่อวางแนวทางการทบทวนทั่วไปต่อไป
นายณัฐพร กล่าวว่า หลังจากการประชุมเป็นทางการแล้ว รองนายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนด การพบนักลงทุนญี่ปุ่นในงานประชุม นิเกอิ ฟอรั่ม และ งานประชุมที่เป็นความร่วมมือของสำนักงานบีโอไอ ของไทย และองค์การส่งเสริม การค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) ในวันที่ 6-7 มิ.ย. ตามลำดับ รวมถึง พบหารือนักลงทุนเป็นรายบริษัทสำหรับกิจการเป้าหมาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ