รฟม.มั่นใจชงรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ วงเงิน 1.31 แสนล้าน เข้าครม.เดือนนี้
Loading

รฟม.มั่นใจชงรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ วงเงิน 1.31 แสนล้าน เข้าครม.เดือนนี้

วันที่ : 7 มิถุนายน 2560
รฟม.มั่นใจชงรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ วงเงิน 1.31 แสนล้าน เข้าครม.เดือนนี้

รฟม.มั่นใจชงโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 1.31 แสนล้านเข้าครม.ได้เดือนนี้ แต่ยอมรับอาจต้องเปิดประมูลปลายปี 60 เพราะต้องรอพ.ร.บ.จัดซื้อฯฉบับใหม่ พร้อมต่อรองเงินกู้ ADB

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล  รองผู้ว่า (กลยุทธ์และแผน) รักษาการผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า มั่นใจภายในเดือนมิถุนายนนี้ กระทรวงคมนาคมจะสามารถเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท ไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติได้ เนื่องจากขณะนี้โครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อนำส่งครม.

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า หากได้รับการอนุมัติจากครม.แล้ว คงยังไม่สามารถเปิดประกวดราคาได้ภายใน 3 เดือน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายทางอื่นที่ผ่านมา เพราะยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เนื่องจากรัฐบาลมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้าง จึงต้องรอให้กรมบัญชีกลางประกาศ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ออกมาก่อน และ รฟม.ต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดอีกระยะ

นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังแจ้งให้ รฟม.ดำเนินการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อนำมาใช้ในช่วงแรกของโครงการที่ 10% ของมูลค่างานโยธา ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.ได้ประสานกับ ADB ไว้แล้ว แต่หลังจาก ครม.เห็นชอบ ก็จะต้องให้ ADB เข้ามาประเมินโครงการก่อน

ตอนนี้เรามีการออกแบบไว้เบื้องต้นแล้ว และร่างเงื่อนไขการประมูลไว้เบื้องต้นแล้ว แต่ยังต้องรอกรมบัญชีกลางประกาศ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ก่อน รวมถึงต้องติดต่อเรื่องเงินกู้กับ ADB ด้วย เป็นไปได้ว่าเราอาจเจรจากับ ADB เริ่มกระบวนการเรื่องเงินกู้ไปก่อน แล้วค่อยลงนามตามมาภายหลังเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งเราตั้งเป้าว่าจะพยายามเปิดประมูลสายสีม่วงใต้ให้ได้ภายในปลายปีนี้นายธีรพันธ์ กล่าว

สำหรับงานระบบและเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ซึ่งต้องดำเนินการแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) นั้น ล่าสุด รฟม.อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการศึกษาตามขั้นตอน PPP ซึ่งเบื้องต้นจะใช้ PPP ประเภท Net Cost Concession (NC) คือ รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนจะได้รับสิทธิในการรับสัมปทาน เก็บค่าโดยสารและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ และจากนี้ รฟม.จะใช้ PPP Net Cost ในทุกสายทาง เพราะเป็นนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้รัฐและเอกชนรับความเสี่ยงร่วมกัน

ส่วนกรณีที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ บางใหญ่-เตาปูน ใช้ PPP ประเภท Gross Cost Concession (GC) คือ รัฐลงทุน 100% และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนทำหน้าที่เดินรถ แล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่นั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะสายสีม่วงเหนือและม่วงใต้เป็นสายทางแบบตรง ไม่ใช่เดินรถเป็นวงกลมเช่นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงสามารถใช้ PPP คนละประเภทได้

นายธีรพันธ์ กล่าวต่อว่า  ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 7.92 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องมีการปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารจอดรถบริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรม โดยเดิมมีแผนก่อสร้างเป็นลานจอดรถพื้นที่ 10 ไร่ แต่ต้องใช้งบประมาณเวนคืนสูงมากประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นที่กลางเมือง โดยมีค่าเวนคืนที่ตารางวาละ 1 ล้านบาท

จากนั้น รฟม.ได้ปรับเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถ ทำให้ลดงบประมาณเวนคืนลงได้ 2,000 ล้านบาท และสุดท้ายคือมีแนวคิดย้ายพื้นที่จอดรถจากสถานีศูนย์วัฒนธรรม ไปอยู่ที่สถานี รฟม. (บริเวณศูนย์ซ่อมสายสีส้ม พระราม 9) ซึ่งจะไม่ต้องเวนคืนที่ดิน แต่บอร์ดยังต้องการให้ รฟม.ทำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมว่า ควรเลือกแนวทางใดดีที่สุด โดย รฟม.จะนำเสนอบอร์ดอีกครั้งในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมยืนยันว่าการปรับแบบพื้นที่จอดรถดังกล่าวไม่กระทบต่องานก่อสร้าง และสามารถทำเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมในสัญญาได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ