ญี่ปุ่นจีบทำศูนย์อสังหาฯ มักกะสัน ชี้เชื่อมอีอีซี-มีไฮสปีด'ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา'
Loading

ญี่ปุ่นจีบทำศูนย์อสังหาฯ มักกะสัน ชี้เชื่อมอีอีซี-มีไฮสปีด'ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา'

วันที่ : 10 มิถุนายน 2560
ญี่ปุ่นจีบทำศูนย์อสังหาฯ มักกะสัน ชี้เชื่อมอีอีซี-มีไฮสปีด'ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา'

          ญี่ปุ่นสนใจลงทุนที่ดินย่านมักกะสันของการรถไฟฯ พัฒนาเป็นศูนย์อสังหาริมทรัพย์ ชี้เชื่อมต่ออีอีซีภาคตะวันออก และมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ส่วนสถานีกลางบางซื่อญี่ปุ่นไม่สนบอกพื้นที่เล็กเกิน

          นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับรองอธิบดีกรมเมืองฝ่ายวิศวกรรม กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) ว่า หารือความคืบหน้ากรณีญี่ปุ่นเสนอศึกษาแผนการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ และพื้นที่โดยรอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์คมนาคมพหลโยธิน

          ครั้งนี้ฝ่ายไทยขอให้ญี่ปุ่นศึกษาความสามารถในการแข่งขันของคู่แข่งเอกชน ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่บริเวณโดยรอบเพิ่มเติมด้วย และแนวโน้มความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ญี่ปุ่นจะเข้ามาสำรวจและสอบถามความต้องการผู้ประกอบการในไทยจำนวน 5 บริษัท และผู้ประกอบการญี่ปุ่นจำนวน 5 บริษัท เพื่อให้เห็นความต้องการในภาพรวม

          นอกจากนี้ยังขอให้ญี่ปุ่นนำต้นแบบการพัฒนาเมืองสมาร์ตซิตี้ หรือเมืองประหยัดพลังงาน ที่ไจก้าเคยศึกษาร่วมกับกระทรวงพลังงานมาประยุกต์กับสถานีกลางบางซื่อด้วย คาดว่าญี่ปุ่นจะเสนอผลการศึกษาฉบับเต็มให้ไทยได้ในกลางเดือนส.ค.นี้

          นายพิชิตกล่าวอีกว่าฝ่ายไทยยังเห็นชอบร่วมกัน ให้ญี่ปุ่นศึกษาแผนการพัฒนาที่ดินเพิ่มเติมอีก 3 แปลงคือ ที่ดินกม.11 ย่านพหลโยธิน 359 ไร่, ที่ดินย่านมักกะสัน 571 ไร่ และที่ดินย่านสถานีแม่น้ำ คลองเตย 279 ไร่ โดยญี่ปุ่นจะเสนอผลการศึกษา ได้ในเดือนมี.ค.2561

          "เราถามไปว่านักลงทุนญี่ปุ่นสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่แปลงเอ ของสถานีกลางบางซื่อหรือไม่ ทางญี่ปุ่นตอบว่าไม่สนใจเนื่องจากพื้นที่เล็กเกินไป แต่สนใจพัฒนาพื้นที่แปลงมักกะสันมากกว่า เพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ เพราะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่"นายพิชิตกล่าว

          รมช.คมนาคมกล่าวอีกว่า ที่สำคัญเป็นพื้นที่เชื่อมต่อเข้าพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมการเดินทางระหว่าง 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา อีกด้วย หากเปิดประมูลเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นจะเข้าเป็นหนึ่งในนักลงทุนต่างชาติที่ร่วมแข่งขันแน่นอน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ