สมคิด เดินหน้าปรับแผนลงทุนเส้นทาง ไฮสปีด
Loading

สมคิด เดินหน้าปรับแผนลงทุนเส้นทาง ไฮสปีด

วันที่ : 12 มิถุนายน 2560
สมคิด เดินหน้าปรับแผนลงทุนเส้นทาง ไฮสปีด

"สมคิด"ตรวจเยี่ยมคมนาคมวันนี้ คาด จะมีการมอบนโยบายรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่นที่ชัดเจน  ด้านคมนาคมเตรียมตัวรายงานความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณแอ็คชั่นแพลน-การลงทุนสนับสนุนอีอีซี

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม ในวันนี้ (12 มิ.ย.) เวลา 09.30 น. โดยคาดว่า จะมีการสั่งให้ปรับแผนการลงทุนเพิ่มเติม  โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมคิด กล่าวระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการว่าญี่ปุ่นเสนอขยายโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคืออู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง โดยเสนอขยายไปถึงจ.พระนครศรีอยุธยา ในขณะที่เตรียมเสนอใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา

 

รัฐบาลคาดหวังว่า การพัฒนาระบบรางครั้งใหญ่ของประเทศในครั้งนี้ จะช่วยหนุน ให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

 

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมรายงานความคืบหน้าโครงการไว้ 3 ด้าน คือความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบลงทุนของปีงบประมาณ 2560 ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมสามารถเบิกจ่าย งบลงทุนได้ 63% ตามเป้าหมายของรัฐบาล และคาดว่าเมื่อจบไตรมาสที่ 3 ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะเบิกจ่ายงบลงทุนได้เกินเป้าหมายเล็กน้อย

 

ขณะเดียวกันจะรายงานความคืบหน้า การลงทุนตามแผนปฏิบัติการด้าน คมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action Plan) ของกระทรวงคมนาคมปี 2559 จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 1.38 ล้านล้านบาท และปี 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงินลงทุน 8.95 แสนล้านบาท

 

สำหรับโครงการลงทุนสำคัญใน Action Plan คือรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว โดยตั้งเป้าหมายจะส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือน มิ.ย. นี้

ด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 5.5 แสนล้านบาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษาของฝ่ายญี่ปุ่น แต่คาดว่านายสมคิดน่าจะให้นโยบายที่ชัดเจนในวันนี้ (12 มิ.ย.) เพราะได้หารือกับรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว

 

ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคม เตรียมรายงานความคืบหน้าการลงทุน เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้นายสมคิด รับทราบด้วย

 

ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ กรรมการ และรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท. เตรียมรายงานความคืบหน้าโครงการลงทุนสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะการประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง 13 สัญญาตามคำสั่งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (ซูเปอร์บอร์ด จัดซื้อจัดจ้าง)

 

ความคืบหน้าล่าสุดคือ ร.ฟ.ท. ได้เปิดประมูลงานโยธารถไฟทางคู่ไปแล้ว 3 สัญญาและจะเปิดขายเอกสารประกวดราคาอีก 5 สัญญาในวันที่ 15-16 มิ.ย. นี้ จากนั้น จะเปิดประมูลงานโยธา 2 สัญญาสุดท้าย ไม่เกินสิ้นเดือนนี้เพราะฉะนั้นงานโยธาทั้ง 10 สัญญาจะได้ตัวผู้รับเหมาภายในปลายเดือน ส.ค.-ก.ย. ตามกรอบเวลาของรัฐบาล ส่วนการประมูลติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ อีก 3 สัญญาจะดำเนินการภายหลัง

 

นอกจากนี้คณะกรรมการร.ฟ.ท. ได้เห็นชอบผลการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและการตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินแล้ว โดยได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาตามขั้นตอน

 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วง กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงิน 98,673.15 ล้านบาทและช่วงกรุงเทพฯพัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กิโลเมตร วงเงิน 152,528 ล้านบาทนั้น ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจาก นักลงทุน (Market Sounding) เป็นครั้งที่ 2 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างศึกษาการขยายรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ให้เชื่อม 3 ท่าอากาศยานเพื่อรองรับโครงการพัฒนาแผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาค ตะวันออกปี 2560-2564 (Eastern Economic Corridor :EEC)

 

ส่วนกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นเสนอให้ขยายรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ไปถึงจ.อยุทธยานั้นเบื้องต้น ร.ฟ.ท. ยังไม่ได้ รับคำสั่งให้ขยายผลการศึกษาถึง จ.อยุธยา

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ