ลุยรถไฟสายใหม่ ญี่ปุ่นขอทำสาย ดอนเมือง-อยุธยา
Loading

ลุยรถไฟสายใหม่ ญี่ปุ่นขอทำสาย ดอนเมือง-อยุธยา

วันที่ : 10 มิถุนายน 2560
ลุยรถไฟสายใหม่ ญี่ปุ่นขอทำสาย ดอนเมือง-อยุธยา

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "โอกาสลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเมกะโปรเจกท์ภาครัฐ" ในหัวข้อ "2560 โครงข่ายคมนาคมฟื้นตลาดอสังหาริมทรัพย์" ว่า โครงการที่เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในช่วงครึ่งปีหลังได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-ตลิ่งชัน, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4, โครงการรถไฟฟาสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงคูคต-ลำลูกกา และช่วงสมุทรปราการ-บางปู รวมถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์เชื่อมต่อท่าอากาศยานดอนเมือง

นอกจากนี้ด้านนักลงทุนต่างประเทศนั้น ทางญี่ปุ่นต้องการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงจากท่าอากาศยานบินดอนเมืองไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย ทางฝ่ายไทยก็พร้อมรับไว้พิจารณาแต่จะต้องรอผลการศึกษาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานหลักก่อน ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯนครราชสีมา ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ใช้มาตรา 44 โดยเฉพาะในขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมกับวิศวกรจีนนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้วในการเร่งรัดเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว และขอเวลาในการพิจารณาอีกระยะหนึ่ง

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) ครั้งที่ 2 จะมีการรายงานในประเด็น ดังกล่าว และสาเหตุที่ทางญี่ปุ่นเลือกให้ทำเส้นทาง เพิ่มเติมนั้นเนื่องจากบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) และจังหวัดนครราชสีมามีนักลงทุน ญี่ปุ่นจำนวนมาก

ที่โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ วันเดียวกัน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้กล่าวเปิดการสัมมนา "การพัฒนาเมืองศูนย์การบิน โอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจ"

นายคณิศ กล่าวว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี คือปี 2565 รัฐบาลตั้งเป้าหมายพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภา ให้เป็นเมืองแห่งการบิน และเป็น ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 15 ล้านคน ในระยะ 5 ปี ซึ่งเฟสแรกจะพัฒนาเป็นแอร์พอร์ต ซิตี้ มีอาคารผู้โดยสาร ทางวิ่ง(รันเวย์) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น อุตสาหกรรมการซ่อมอากาศยาน ซึ่งกำลังหารือร่วมกับ แอร์บัส และโบอิ้ง ให้เข้ามาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว และที่สำคัญจะต้องเกิดโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เพื่อเข้ามาเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ และเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อรับนโยบายการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ส่วนเฟสที่สอง รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้ใหญ่ขึ้นเป็นมหานครการบินใน ปี 2570 หรือ 10 ปีข้างหน้า และจะเพิ่มจำนวนเป็น 30 ล้านคนในระยะเวลา 10 ปี และ 60 ล้านคนในระยะ เวลา 15 ปี หรือปี 2575 โดยจะยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางคมนาคมโลจิสติกส์ ผนวกเข้ากับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเชิญนายจอห์น ดี คาซาร์ดา (John D. kasarda) ผู้อำนวยการศูนย์ การศึกษาด้านการบินพาณิชย์แห่งมหาวิทยาลัย นอร์ท แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้นำในการพัฒนาแนวคิดเมืองการบิน มาร่วมพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาให้เป็นมหานครการบินด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ