เร่งวางโลจิสติกส์หมื่นล้านดัน มุกดาหาร ประตูสู่ตะวันออก
Loading

เร่งวางโลจิสติกส์หมื่นล้านดัน มุกดาหาร ประตูสู่ตะวันออก

วันที่ : 13 มิถุนายน 2560
เร่งวางโลจิสติกส์หมื่นล้านดัน มุกดาหาร ประตูสู่ตะวันออก

    การประกาศให้ "มุกดาหาร" เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ภายใต้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ตั้งแต่ปี 2557  ซึ่งนอกจากจะทำให้ตัวเลขการค้าชายแดนขยับเพิ่มขึ้นแล้ว รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการค้าการลงทุน

          นายสรสิทธิ์  ฤทธิ์สรไกร  ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ระบุว่า ในปีนี้มุกดาหาร ได้รับงบประมาณเพื่อตอบสนองด้านการขนส่งไปสู่อาเซียนตะวันออกหลายโครงการ เช่นโครงการก่อสร้างทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร (แนวใหม่) สาย บ.นาไคร้-อ.คำชะอี (ทางหลวง) วงเงินค่าก่อสร้างรวม 2.4 พันล้านบาท รวมทั้งโครงการพัฒนาทางหลวงเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางหลวงหมายเลข 212 อ.หว้านใหญ่-อ.ธาตุพนม (ทางหลวง) วงเงินค่าก่อสร้างรวม 1,046 ล้านบาท

          นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.ให้พิจารณาใน เดือน มิ.ย.นี้ รวมแล้วโครงการก่อสร้างจะมี มูลค่าถึง 1 หมื่นล้านบาท

          จากการลงงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 จึงคาดว่าปัจจัยบวกนี้จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการขนส่ง และทำให้มูลค่า การค้าชายแดนมุกดาหารขยับขึ้นไปไม่ต่ำกว่า  2 แสนล้านบาทในปี 2562 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากมูลค่า 1.35 แสนล้านบาทในปี 2559

          ส่วนแนวโน้มมูลค่าการค้าในปีนี้ 6 เดือน ที่ผ่านมา(ม.ค.-มิ.ย.) แตะ 1 แสนล้านบาทแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามุกดาหารเป็นเขตเศรษฐกิจ ที่มีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง

          "ตอนนี้ภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ยังมี ข้อเสนอสร้างสนามบินในจ.มุกดาหาร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาของกระทรวงคมนาคม เบื้องต้นสนามบินที่จะ ก่อสร้าง อยู่บนที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เนื้อที่ 4.3 พันไร่ คาดว่าจะใช้งบราว 2 - 3 พันล้านบาท เมื่อทุกโครงการโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เต็มศักยภาพ ก็จะทำให้มุกดาหารกลายเป็นท่าเรือบกตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ และเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและอำนวยความสะดวกไปสู่อาเซียนตะวันออก"

          นายสรสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้มี เอกชน 6 รายขอลงทุนในมุกดาหารกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่าการลงทุนราว 843 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมเกษตรส่วนใหญ่ ซึ่งตรงกับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอกำหนดมอบสิทธิพิเศษด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

          โดย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมการเกษตร, ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง, เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์, กิจการโลจิสติกส์ นิคม หรือเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งกิจการเพื่อ สนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมาขอสิทธิลงทุนเพิ่มเติม ส่วนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 1,080 ไร่ แนวทางที่กำหนดไว้ จะเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อเข้ามารับบริหารภายใต้สัญญาเช่า 50 ปี โดยมอบสิทธิ์ให้บริหารเพียงรายเดียว และปัจจุบันมีเอกชนยื่นซองประมูลเช่าที่ดินแล้ว 7 ราย ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ จะเปิดซองราคาพร้อมประกาศผล

          ด้าน นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนการสร้างสนามบิน เพราะหากทำ โครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและอากาศ ครบถ้วน จะเชื่อมโลจิสติกส์กับภูมิภาคอื่นได้สมบูรณ์ขึ้น อีกทั้งรัฐบาลควรมองการใช้โอกาสพัฒนาให้มุกดาหารเป็นแหล่งศูนย์กลางผลิตบุคลากรด้วยเชื่อมไปยังเพื่อนบ้าน

          ขณะที่ นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มุกดาหารนับว่าเป็นพื้นที่มีศักยภาพ นอกจากเชื่อมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีเส้นทางเชื่อมไปเวียดนามและจีน โดยปีที่ผ่านมาการค้าชายแดนและผ่านแดนของมุกดาหารอยู่อันดับ 3 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ราว 1.35 แสนล้านบาท เป็นรองด่านสะเดาและ ปาดังเบซาร์ ที่มีมูลค่ารวมกัน 5 แสนล้านบาท

          นอกจากการค้าและอุตสาหกรรมแล้ว ภาคบริการยังมีโอกาสขยายตัวสูง  โดยนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเมินว่ามุกดาหารและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างนครพนม และสกลนคร ถือเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีจุดเด่นที่เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำโขง

          ดังนั้น หากมีการสนับสนุนทำธุรกิจด้าน การท่องเที่ยว นับเป็นโอกาสที่จะจัดแพ็คเกจ ท่องเที่ยวฝั่งแม่น้ำโขง แพ็คเกจเชิงวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งคาดว่าในช่วงของการพัฒนาศักยภาพ ภายใน 2-3 ปีนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้าไปในกลุ่ม จังหวัดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 10% จากฐานตัวเลขในปี 2558 ที่มีปริมาณอยู่ราว 1.8 ล้านคน

          จากความเห็นของคนในพื้นที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของมุกดาหารมีโอกาศเติบโตสูง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนผลักดันให้เกิดการค้าการลงทุนมากขึ้น

          นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ามุกดาหารเปรียบเสมือน"ท่าเรือบก" หรือประตูการค้าส่งออกไปยังตลาดในประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันออก ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ ไปถึงจีนตอนใต้ โดยมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำกว่า การส่งออกจากฐานการผลิตในที่อื่น ซึ่งจะทำให้ สินค้ามีความได้เปรียบในการแข่งขัน

          นอกจากนี้ การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ยังจะเชื่อมโยงเข้ากับ เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยเริ่มจากดานัง เวียดนาม ผ่านสะหวันเขต ของลาว และผ่าน จ.ตากไปเมืองเมาะละแหม่ง ของเมียนมา โดยใช้เวลาเดินทาง 3 วัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยประหยัดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง และยังเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งไปถึงจีนตอนใต้ เชื่อมต่อเส้นทางโลจิสติกส์กับนโยบาย One Belt One Road ของจีน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ