สมคิด เร่ง 100 โปรเจ็กต์อีอีซี ผุดเพิ่มรถไฟใหม่เชื่อมท่าเรือ 1.7 แสนล้าน
"สมคิด" บุกคมนาคม เกาะติดแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ เผยพอใจผลงานเข้าเป้า สั่งปั๊ม 100 โครงการ ลงทุนกว่า 5.9 แสนล้าน หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ขีดเส้นสิ้นปีประมูลไฮสปีดกรุงเทพฯ-ระยอง เดินหน้าถกญี่ปุ่นขยายเส้นทางไปถึงอยุธยา เร่ง ร.ฟ.ท.ล้างท่อทางคู่ 5 สายให้จบ ก.ย. ด้าน สนข.ชงลงทุน 1.7 แสนล้าน ผุดรถไฟสายใหม่เชื่อมขนส่งสินค้าท่าเรือพื้นที่อีอีซี "อาคม" จัดทัพทางคู่เฟส 2 เสนอ ครม.อนุมัติ 7 สายรวด ก.ค.-ส.ค.นี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ผลติดตามความก้าวหน้าโครงการลงทุนของคมนาคมเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี และการลงทุนระบบคมนาคมขนส่งเร่งด่วน ปี 2559-2560 จำนวน 56 โครงการ เงินลงทุน ร่วม 2 ล้านล้านบาท ที่เดินหน้าตามแผนงาน ส่งผลให้เกิดการลงทุนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ มีนักลงทุนจีนและญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯโคราช และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
ทั้งนี้ ให้คมนาคมเร่งโครงการคมนาคม และโลจิสติกส์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มี 100 โครงการ เงินลงทุน 594,807 ล้านบาท ให้เสร็จ 5 ปี (2560-2564 ) โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193 กม. เงินลงทุน 152,528 ล้านบาท รถไฟทางคู่ และสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง (ICD) จะต้องดำเนินการให้ได้ปีนี้
สิ้นปีประมูลไฮสปีดระยอง
"รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ต้องประมูลในปี'60 ส่วนต่อขยายไปอยุธยาที่ญี่ปุ่นสนใจ คมนาคมต้อง หารือกับญี่ปุ่นอีกครั้ง ขณะที่กรุงเทพฯเชียงใหม่ ทางญี่ปุ่นกำลังศึกษาความเหมาะสมโครงการ อยากให้สร้างเร็ว ๆ ซึ่งความคุ้มค่าวัดกันที่เศรษฐกิจในจังหวัด ความเจริญ จะวัดจำนวนผู้โดยสารไม่ได้" นายสมคิดกล่าวและว่า
รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ได้แก่ ลพบุรีปากน้ำโพ 148 กม. วงเงิน 23,920 ล้านบาท, มาบกะเบา-จิระ 132 กม. วงเงิน 28,104.31 ล้านบาท, นครปฐม-หัวหิน 165 กม. วงเงิน 19,269.89 ล้านบาท, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90 กม. วงเงิน 9,853 ล้านบาท และประจวบคีรีขันธ์ชุมพร 167 กม. วงเงิน 16,234.64 ล้านบาท ได้รับรายงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะทยอยประมูลเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน อยู่ระหว่างการพิจารณาของคมนาคมเพื่อเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาต่อไป
มิ.ย.ขอไฟเขียวรถไฟไทย-จีน
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 250 กม. เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท เป็นความร่วมมือของรัฐบาลไทยและจีน คาดว่าจะเสนอขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือน มิ.ย.นี้
ส่วนรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. วงเงิน 64,921 ล้านบาท, จิระ-อุบลราชธานี 309 กม. วงเงิน 49,951 ล้านบาท, ขอนแก่น-หนองคาย 174 กม. วงเงิน 23,727 ล้านบาท, ชุมพรสุราษฎร์ธานี 167 กม. วงเงิน 34,726 ล้านบาท, สุราษฎร์ธานี-สงขลา 324 กม. วงเงิน 51,065 ล้านบาท, หาดใหญ่- ปาดังเบซาร์ 45 กม. วงเงิน 23,727 ล้านบาท และเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. วงเงิน 63,353 ล้านบาท จะทยอยเสนอให้ ครม.อนุมัติเปิดประมูลโครงการภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้
"เส้นทางอยุธยา-ระยองที่ญี่ปุ่นเสนอ มองว่าโครงการเป็นประโยชน์ ซึ่งตามข้อกำหนดที่คณะกรรมการอีอีซีให้คมนาคมศึกษา คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ จากอู่ตะเภา สุวรรณภูมิและดอนเมือง หากญี่ปุ่นอยากเชื่อมไปถึงอยุธยาก็ให้เริ่มช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ก่อน"
ผุดเส้นทางใหม่เชื่อมท่าเรือ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า นอกจากนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เสนอโครงการพัฒนาระบบรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมท่าเรือพื้นที่อีอีซี เงินลงทุนรวม 171,380 ล้านบาท เริ่มศึกษาโครงการปี 2560 ก่อสร้าง ปี 2562-2563 ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา 125 กม. วงเงิน 8,000 ล้านบาท, เดินรถไฟขนสินค้าไทย-กัมพูชา และก่อสร้างสถานี CY ที่ ต.คลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว วงเงิน 3,000 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด 70 กม. วงเงิน 15,400 ล้านบาท
ก่อสร้าง ICD แก่งคอย เป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้านำเข้า-ส่งออกไปภาคอีสานและ สปป.ลาว วงเงิน 10,000 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-ระยอง 79 กม. และช่วงระยอง-มาบตาพุด 22 กม. วงเงิน 22,220 ล้านบาท, รถไฟทางเดี่ยวช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด 150 กม. วงเงิน 22,500 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด 150 กม. วงเงิน 18,860 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ 174 กม. วงเงิน 26,100 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงท่าแฉลบ-พานทอง 120 กม. วงเงิน 40,800 ล้านบาท และโครงการ ICD หนองปลาดุก วงเงิน 4,500 ล้านบาท
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ