เล็งเพิ่ม สมุทรปราการ เข้าอีอีซี
นายกฯสั่งทำ 3 จังหวัดเดิม ให้เป็นรูปธรรม ก่อนประกาศเพิ่มพื้นที่
"อุตตม" เผยเตรียมพิจารณาจ.สมุทรปราการ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี หลังพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดให้สำเร็จก่อน สั่ง กนอ.จัดเตรียมพื้นที่นิคมฯรองรับเอสเอ็มอี
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ" ครั้งที่ 3 จ.ชลบุรี วานนี้(14 มิ.ย.)ว่ามีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะเพิ่มจ.สมุทรปราการ เข้ามาร่วมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) หลังจาก พื้นที่เดิม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา มีการพัฒนาเป็นรูปธรรม
"นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งดำเนินงาน ในอีอีซี 3 จังหวัดให้ประสบความสำเร็จก่อน จากนั้นมีแนวโน้มสูงว่าน่าจะขยายเพิ่มไป จ.สมุทรปราการเพราะมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงในอีอีซีและต่างประเทศเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอีอีซีและสามารถเพิ่ม แวลูเชนในถาคอุตสาหกรรมได้มาก"
นอกจากนี้ยังได้เร่งจัดทำยุทธศาสตร์การลงทุน 3 จังหวัดอีอีซีเพื่อกำหนดเป้าหมาย การลงทุนให้ชัดเจนว่าจังหวัดใดจะส่งเสริม ให้เกิดอุตสาหกรรมใดเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติ ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยเตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายบริหารอีอีซีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์คาดจะเห็นผลภายในปลายปีนี้
นายอุตตมกล่าวว่าในวันที่ 11 ก.ย.นี้ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ)ของประเทศญี่ปุ่นจะนำคณะนักธุรกิจทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีเข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมลงพื้นที่อีอีซีเพื่อศึกษาข้อมูลการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ สุขภาพสิ่งแวดล้อมและยานยนต์สมัยใหม่
จากการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมาได้มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี ล่าสุดบริษัทฟูจิฟิล์ม ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์รายใหญ่ของญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอเบื้องต้นลงทุนผลิตอุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยีฟื้นฟูร่างกาย ชั้นสูง คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินงานและลงทุนตั้งโรงงานประมาณ 5 ปี โดยจะแบ่งการลงทุนเป็นหลายเฟสโดยต่อจากนี้จะหารือลงลึกถึงพื้นที่ตั้งโรงงาน
นอกจากนี้จะร่วมมือกับหอการค้าในภาคตะวันออกผลักดันเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพจับคู่ กับธุรกิจขนาดใหญ่และนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในอีอีซีเพื่อให้เอสเอ็มอีเหล่านี้ขยายศักยภาพไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
"กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปช่วยทั้งในเรื่องของเงินทุนและจับคู่แมชชิ่งกับธุรกิจขนาดใหญ่ในอีอีซีเพราะหากให้เอสเอ็มอี เหล่านี้ดำเนินการเองจะเป็นเรื่องยาก"
ทั้งนี้ยังได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)จัดหาพื้นที่ในนิคมฯ ในเขตอีอีซีเป็นพื้นที่รองรับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีและมีบริเวณให้เอสเอ็มอีเข้ามาระดม สมองพัฒนานวัตกรรมและสินค้าต้นแบบโดยจะจัดเครื่องมือพื้นฐานให้เช่นเครื่องพิมพ์และสแกน 3 มิติและอุปกรณ์อื่นๆ
ด้านความคืบหน้าของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐอยู่ระหว่างการร่างพ.ร.บ.กองทุนฯเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคยกระดับให้กองทุนฯนี้ให้มีกฎหมายรองรับรัฐบาลตัองจัดสรรงบประมาณให้ในระยะยาวคาดว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเสนอเข้าที่ประชุมครม.จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ภายในปีนี้
สำหรับเอสเอ็มอีที่เข้ามาขอสินเชื่อในโครงการกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐและกองทุนอื่นๆของรัฐบาล ล่าสุดมีเอสเอ็มอีที่ผ่านการพิจารณา ขั้นต้นแล้วกว่า 8 พันรายวงเงินกู้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตมีสัดส่วน 70% รองลงมาเป็น ค้าปลีกค้าส่ง 8%อุตสาหกรรมบริการ 7% และอื่นๆ 11%
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ