บีทีเอส ลุยซูเปอร์โมโนเรลสายชมพู-เหลือง
Loading

บีทีเอส ลุยซูเปอร์โมโนเรลสายชมพู-เหลือง

วันที่ : 19 มิถุนายน 2560
บีทีเอส ลุยซูเปอร์โมโนเรลสายชมพู-เหลือง

ฝันเป็นจริง เจ้าพ่อบีทีเอสเซ็นรวด 5 สัญญาแสนล้าน ผนึกพันธมิตรรับเหมา แบงก์ ผู้ผลิตรถ สร้างรถไฟฟ้าสายชมพู-เหลือง ปลายปีตอกเข็ม เสร็จปี'63 "บอมบาร์ดิเอร์" ควงจีน ฮุบเค้กซูเปอร์โมโนเรล 2 สายแรก 5 หมื่นล้าน "สมคิด" จัดทัพลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ 2.4 ล้านล้านจบปีนี้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. จำนวน 30 สถานี เงินลงทุน 46,643 ล้านบาท และสายสีเหลืองลาดพร้าวสำโรง ระยะทาง 30.4 กม. 23 สถานี วงเงิน 45,797 ล้านบาท รวม 92,440 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ผู้ชนะประมูลโครงการ

 

นำร่อง PPP Fast Track

 

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รักษาการผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง เป็นโครงการนำร่องตามมาตรการ PPP Fast Track ของรัฐบาล เพื่อเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

 

ทั้ง 2 โครงการเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost รัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วน และเอกชนลงทุนงานโยธา งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า ค่าจ้างที่ปรึกษา รวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นระยะเวลาตามสัญญา 33 ปี 3 เดือน โดยออกแบบก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และให้บริการเดินรถ 30 ปี

 

"ขณะนี้ รฟม.กำลังเข้าสำรวจพื้นที่เวนคืน พร้อมกับรอกรมทางหลวง และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งมอบพื้นที่ ภายในปลายปีนี้"

 

ตั้ง 2 บริษัทลุยโปรเจ็กต์แสน ล.

 

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า กลุ่มบีเอสอาร์ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้น 2 บริษัท คือ บจ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล เพื่อดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีชมพู และ บจ.อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล เพื่อดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีทุนจดทะเบียนบริษัทละ 14,000 ล้านบาท ตามสัดส่วน บีทีเอส 75% ซิโน-ไทยฯ 15% และราชบุรีโฮลดิ้ง 10% เพื่อเป็นเงินทุนก่อสร้างโครงการจนกว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563

 

"การลงนามสัญญาวันนี้นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะเซ็นพร้อมกัน 5 ฉบับ มูลค่าร่วม 1 แสนล้านบาท ทั้งสัญญาสัมปทาน จ้างงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า"

 

ใช้ระบบรถ "บอมบาร์ดิเอร์"

 

ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าได้เลือกใช้ระบบของบอมบาร์ดิเอร์ ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท CRC ของจีน และสัญญาแต่งตั้งให้แบงก์กรุงเทพเป็นลีดเดอร์ในการจัดหาแหล่งเงินกู้ส่วนที่เหลือ 70,000 ล้านบาทให้

 

สำหรับพื้นที่ก่อสร้างแม้ว่ารถไฟฟ้าทั้ง 2 สายจะสร้างบนถนนที่มีการจราจรหนาแน่น แต่บริษัทมั่นใจว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ รวมถึงส่วนต่อขยายเข้าเมืองทอง 2.8 กม. และส่วนที่เชื่อมกับสายสีเขียวบริเวณแยกรัชโยธิน 2.6 กม.ได้ก่อนกำหนด และเปิดใช้เร็วขึ้นเป็นต้นปี 2563 เพราะยิ่งเปิดบริการได้เร็วจะทำให้บริษัทมีรายได้จากค่าโดยสาร ค่าที่จอดรถ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ 53 สถานีเร็วขึ้นด้วย เนื่องจากไม่มั่นใจว่าในปีแรกที่เปิดใช้ ผู้โดยสารจะเป็นไปตามเป้า 1.2 แสนเที่ยวคน/วันหรือไม่

 

"สายสีชมพูและสีเหลืองหลังเปิดใช้จะเป็นซูเปอร์โมโนเรล 2 สายแรกของประเทศ และรถที่เราจะซื้อจากบอมบาร์ดิเอร์ 288 ตู้ หรือ 72 ขบวนนั้น จะเป็นรถรุ่นใหม่ล่าสุด"

 

ใช้ซูเปอร์โมโนเรลรุ่นใหม่

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป เปิดเผยว่า บอมบาร์ดิเอร์จะเป็นผู้จัดหาระบบให้ทั้งหมดในรูปแบบเทิร์นคีย์ คือทั้งระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถ และระบบขายตั๋วและจัดเก็บค่าโดยสาร รวมเป็นวงเงิน 4-5 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาในการผลิตรถ 2-3 ปี

 

"รถที่เราใช้จะเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดคือ รุ่น Innova 300 เป็นโมโนเรลล้อยางขนาดใหญ่ เรียกว่าซูเปอร์โมโนเรล มีความกว้างเท่ากับรถบีทีเอส ใน 1 ขบวนมี 4 ตู้ มีขีดความสามารถขนส่งผู้โดยสาร 4 หมื่นคน/ชม./ทิศทาง รูปแบบจะสร้างคร่อมทางวิ่ง มีความเร็วเฉลี่ย 35-80 กม./ชม."

 

นอกจากนี้ บีทีเอสยังจะเลือกใช้ระบบบอมบาร์ดิเอร์กับรถไฟฟ้าสายสีทอง (สถานีกรุงธนบุรี-ประชาธิปก) อีก 3 ขบวน เป็นรุ่น Innova APM 300 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอกรุงเทพธนาคมอนุมัติโครงการ

 

เร่งเมกะโปรเจ็กต์ 2.4 ล้านล้าน

 

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านแศรษฐกิจ กล่าวว่า ขอบคุณเอกชนที่ช่วยลงทุนโครงการนี้ และขอยกย่องคุณคีรีว่าเป็นนักรบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ที่ทำให้ฝันของคนกรุงเทพฯเป็นจริง

 

"รถไฟฟ้า 2 สายนี้ไม่ธรรมดา แต่จะนำประเทศไทยไปสู่อนาคตที่วาดฝันเอาไว้ ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสในการเติบโตด้านเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน โดยไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ ต้องทำให้ไทยเคลื่อนไหวด้วยกลยุทธ์ สร้างมูลค่า โอกาสการแข่งขันในการลงทุน หากนักลงทุนคนไหนยังกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่ มีสตางค์แต่ไม่กล้าใช้ ถ้าไม่ลงทุนวันนี้ ตกรถไฟแน่นอน"

 

ภายในปีนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทางที่เหลือ ได้แก่ สายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 131,004 ล้านบาท, สีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน 90,271 ล้านบาท และสายสีแดงช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 7,596 ล้านบาท และตลิ่งชั่น-ศิริราช-ศาลายา วงเงิน 19,042 ล้านบาท

 

นอกจากนี้มีรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง มูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท จะทยอยได้ผู้รับเหมาก่อสร้างครบทุกสายในปีนี้ ได้แก่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ มาบกะเบา-จิระ นครปฐม-หัวหิน หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193 กม. วงเงิน 152,528 ล้านบาท และทางคู่ที่เชื่อมท่าเรือจะต้องผ่าน ครม.ในปีนี้เช่นกัน

 

"อีก 4-5 ปีข้างหน้า โครงการเมกะโปรเจ็กต์ของคมนาคม มูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาท จะเริ่มผลักดันทุกมิติทั้งการอนุมัติโครงการและลงนามสัญญา" นายสมคิดกล่าวย้ำ

 

นายธีรพันธ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีว่า ผู้รับเหมาทั้ง 5 สัญญา จัดทำแผนการรื้อย้ายสาธารณูปโภค คาดว่าจะเริ่มปิดการจราจรและเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ภายในปีนี้ จะแล้วเสร็จปี 2566

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ