รถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดพื้นที่พัฒนาเมืองกทม.โซนเหนือ
Loading

รถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดพื้นที่พัฒนาเมืองกทม.โซนเหนือ

วันที่ : 25 มิถุนายน 2560
รถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดพื้นที่พัฒนาเมืองกทม.โซนเหนือ
"รถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดพื้นที่พัฒนาเมืองกทม.โซนเหนือ"

          โครงการดังกล่าวนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ล่าสุดเซ็นสัญญาก่อสร้างอย่างเป็นทางการกับบริษัทรับเหมาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าปลายปีนี้คงจะได้เห็นการเปิดพื้นที่เริ่มก่อสร้างมากขึ้นจากที่ปัจจุบันมีการสำรวจพื้นที่บางจุดเพื่อตรวจสอบระบบสาธารณูปโภคก่อนจะมีการรื้อย้ายครั้งใหญ่เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

          รถไฟฟ้าเส้นทางนี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มีส่วนช่วยกระจายความเจริญของเมืองโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครโซนเหนือ คาบเกี่ยวกลุ่มจังหวัดนนทบุรีบางส่วน ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ รามอินทรา ก่อนเข้าสู่พื้นที่เขตมีนบุรีแน่นอนว่าแจ้งวัฒนะ รามอินทรา และมีนบุรีจะเห็นความเจริญเกิดขึ้นแน่หากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการซึ่งตามแผนคาดว่าประมาณปี 2563

          รถไฟฟ้าสายสีชมพู ถูกออกแบบให้เป็นระบบรองโดยคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ได้มีมติให้รฟม.ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว(Monorail) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า-ขบวนรถไฟฟ้าและค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งบริหารการเดินรถ-ซ่อมบำรุง โดยเอกชนร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน(รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาการเดินรถ 30 ปี) โดยรฟม.ดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ.2556

          เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะสามารถรองรับการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลด้านเหนือในแนวตะวันตก-ตะวันออก ที่จะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับกรุงเทพตามแนวถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ และรามอินทราไปจนถึงมีนบุรี ที่ปัจจุบันจัดเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและแหล่งพาณิชยกรรม ได้รับอานิสงส์ในการช่วยกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ชานเมือง

          ประการสำคัญสายสีชมพูจัดว่าเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนอื่นทั้งในพื้นที่นนทบุรีที่จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถนนแจ้งวัฒนะจะเชื่อมกับทางด่วน โดยจะเชื่อมไปยังพื้นที่เมืองทองแหล่งธุรกิจขนาดใหญ่ในโซนดังกล่าว เชื่อมกับรถไฟสายสีแดงที่ถนนวิภาวดีรังสิต เชื่อมบีทีเอสหรือสายสีเขียวที่วงเวียนหลักสี่ ต่อไปจะเชื่อมกับทางด่วนอาจณรงค์-รามอินทรา และรถไฟฟ้าสายสีเทาที่ย่านวัชรพล ก่อนที่จะไปสิ้นสุดที่มีนบุรีที่จะเชื่อมกับสายสีส้ม

          โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพูสามารถรองรับผู้โดย สารได้ถึง 1-4.4 หมื่นคน/ชั่วโมง/ทิศทาง ซึ่งบีทีเอสได้เลือกบริษัท บอมบาดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล(ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการทั้งระบบอาณัติ สัญญาณ ขบวนรถ ระบบขายตั๋วและจัดเก็บค่าโดยสาร ใช้ขบวนรถ 288 ตู้ หรือ 72 ขบวนขบวน ละ 4 ตู้  ตัวรถมีความกว้าง 3 เมตร ยาวราว 11 เมตร วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงเรียกได้ว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูจะเอื้อต่อการเดินทางอย่างเป็นระบบและครบวงจรได้อีกไม่กี่ปีนี้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ