ทุ่ม6พันล.ผุดแลมป์เชื่อมทางด่วน-โทลล์เวย์
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 27 มิ.ย. 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) สัญญาสัมปทาน การลงทุนออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษาทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก วงเงิน 275 ล้านบาท และร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) สัญญาระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) เนื่องจากจะมีการสร้างทางเชื่อม (แลมป์) ระหว่าง 2 ทางด่วนนี้ บริเวณบางซื่อ ด้านเหนือสถานีขนส่งผู้โดยสารสายเหนือ (หมอชิต 2) รองรับผู้ใช้ทางมาจากทางด่วนศรีรัชใหม่ ให้เดินทางไปยังทางด่วนขั้นที่ 2 มุ่งหน้าประชาชื่นและแจ้งวัฒนะได้
โดย บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง วงเงิน 155 ล้านบาท ระยะทาง 360 เมตร มีพื้นที่ 1,150 ตร.ม. โดยไม่เก็บค่าผ่านทางเพิ่ม นอกจากนี้ BEM จะออกเงินค่าก่อสร้าง 120 ล้านบาท สร้างตอม่อทางยกระดับ จะสร้างเชื่อมทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกกับโทลล์เวย์ไปก่อน เพื่อไม่ให้ล่าช้า เพราะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ระหว่างรอคัดเลือกเอกชนมาลงทุนรูปแบบ PPP
"การก่อสร้างทั้ง 2 ส่วน ใช้ระยะเวลา 18 เดือน คาดว่าหลังเปิดใช้บริการทางเชื่อมศรีรัชเก่ากับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก จะสามารถเพิ่มปริมาณจราจรของศรีรัช-วงแหวนรอบนอกอีก 2,600 คันต่อวัน จากเดิมมีปริมาณ 50,000 คันต่อวัน" นายอาคมกล่าวและว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2560 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติให้สร้างทางเชื่อมโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกแล้ว หลังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียด ใช้วงเงินลงทุน 6,220 ล้านบาท ระยะทาง 2.6 กม.ลงทุนรูปแบบ PPP มอบให้กระทรวงคมนาคมไปเดินหน้าโครงการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายร่วมทุนต่อไป เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร ของพื้นที่เขตเมืองในกรุงเทพฯ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ