ทุ่มแสนล้านขยาย รถไฟฟ้าสายสีม่วง เชื่อม เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รับเปิดหวูด1สถานี
Loading

ทุ่มแสนล้านขยาย รถไฟฟ้าสายสีม่วง เชื่อม เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รับเปิดหวูด1สถานี

วันที่ : 6 กรกฎาคม 2560
ทุ่มแสนล้านขยาย รถไฟฟ้าสายสีม่วง เชื่อม เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รับเปิดหวูด1สถานี

รฟม.เริ่มทดสอบระบบแล้ว ! รถไฟฟ้าเชื่อมต่อสถานีฟันหลอ "เตาปูนบางซื่อ" รับเปิดบริการ ส.ค.นี้ คาดคนใช้สายสีม่วงเพิ่มแน่ เร่งเสนอ ครม.ไฟเขียวแสนล้าน สร้างส่วนต่อขยายถึงราษฎร์บูรณะ เตรียมชงเพิ่มอีก 2 สาย "ส้มตะวันตกและน้ำเงินสาย 4" ชะลอช่วงต่อไปบางปู-ลำลูกกา รอข้อยุติ กทม.ถ่ายโอนทรัพย์สินสายสีเขียว

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกุล รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงิน กำลังทดสอบระบบการเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานีจากบางซื่อ-เตาปูน ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) กับสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) คาดว่าจะเปิดบริการได้ระหว่างวันที่ 11-15 ส.ค. 2560 และจะทำให้ผู้โดยสารของสายสีม่วงเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1-3.2 หมื่นเที่ยวคน/วัน ที่เพิ่มขึ้น 30% นับจากเปิดบริการวันที่ 6 ส.ค. 2559

เปิด 1 สถานีคนใช้สีม่วงเพิ่ม

"ตั้งเป้าจะมีคนใช้สายสีม่วงเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะสะดวกขึ้น ส่วนค่าโดยสารอยู่ระหว่างพิจารณา จะมีจัดโปรโมชั่นหรือเก็บเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อนั่งสายสีม่วงจากสถานีปลายทางถึงหัวลำโพงสถานีปลายทางของสายสีน้ำเงิน จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท เพราะจะยกเว้นค่าแรกเข้าต่อที่ 2 ให้ ส่วนระบบฟีดเดอร์มารับส่งคนฟรีที่สถานีของสายสีม่วง รอดูผลตอบรับจากการเปิดใช้ 1 สถานีก่อน"

นอกจากนี้ รฟม.อยู่ระหว่างเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างของสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ให้กับกลุ่มบีทีเอสเพื่อดำเนินการก่อสร้าง หลังจากออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว รวมถึงส่งมอบพื้นที่ของสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ให้กับผู้รับเหมางานด้านโยธาทั้ง 5 สัญญา เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าไปตามแผนงานที่กำหนด โดยสายสีชมพูกับเหลืองจะสร้างเสร็จในปี 2563 ส่วนสีส้มจะเสร็จในปี 2566

เร่งต่อขยายเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

นายธีรพันธ์กล่าวอีกว่า สำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายใหม่ เตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการ จำนวน 5 สายทาง รวมมูลค่ารวม 253,600 ล้านบาท จะเสนอได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ คือ ส่วนต่อขยายสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท แยกเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,913 ล้านบาท สำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ก่อสร้างงานโยธา 70,295 ล้านบาท สิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง 1,335 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท และค่า Provisional Sum (ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด) ของงานโยธา 10,672 ล้านบาท

ตามแผนของ รฟม.หลัง ครม.ไฟเขียว จะเดินเปิดประมูลก่อสร้างทันที โดยจะดำเนินการขออนุมัติโครงการจาก ครม.ควบคู่ไปกับการรอผลอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในช่วงราษฎร์บูรณะ-วงแหวนกาญจนาภิเษก ระยะทางประมาณ 5 กม.

ลดขนาดที่จอดรถเหลือ 50 ไร่

หลัง รฟม.ขอทบทวนขนาดของจุดจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) ยุบเหลือที่คลองบางไผ่เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งเดียว และลดขนาดศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษกเป็นพื้นที่จอดรถไฟฟ้า ขนาด 50 ไร่ ส่วนจุดจอดแล้วจร มี 2 แห่ง ที่สถานีบางปะกอกกับสถานีราษฎร์บูรณะ

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นเป็นทางวิ่งยกระดับจากสถานีเตาปูนไปตามแนวถนนตัดใหม่ของ กทม. (ถนนสาย ง 8 ตามผังเมืองรวมกรุงเทพฯ 2556) แล้วลดระดับลงเป็นทางวิ่งใต้ดิน ผ่านเข้าพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวเข้าถนนทหาร ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์แล้วเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดปลายทางที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงข้างด่านเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก รวมระยะทาง 23.6 กม. เป็นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และทางวิ่งยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

ขณะที่ระบบจะใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีความจุสูง ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อน 750 โวลต์ กระแสตรงจากรางที่ 3 โดยในปีแรกที่เปิดเดินรถจะใช้รถทั้งหมด 38 ขบวน (จำนวนรถ 4 ตู้ต่อขบวน) คาดการณ์ผู้โดยสารในปีแรกเปิดบริการ มีผู้โดยสาร 477,098 คน-เที่ยว/วัน อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.95% ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 4.59%

ชะลอสีเขียวลำลูกกา-บางปู

นอกจากนี้ยังมีสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ระยะทาง 13.4 กม. ค่าก่อสร้าง 109,342 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสภาพัฒน์ และสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) ระยะทาง 8 กม. ค่าก่อสร้าง 21,197 ล้านบาท รอผลศึกษารูปแบบการลงทุน PPP การเดินรถ

ส่วนสีเขียวต่อขยาย (สมุทรปราการบางปู) ระยะทาง 9.2 กม. เงินลงทุน 12,146 ล้านบาท กับสีเขียวต่อขยาย (คูคต-ลำลูกกา) ระยะทาง 6.5 กม. ค่าก่อสร้าง 9,803 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอความชัดเจนการโอนทรัพย์สินสายสีเขียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ล่าสุดชะลอการเสนอโครงการให้ ครม.พิจารณาออกไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติ

จะเร่งรัดเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ให้ ครม.พิจารณาให้ครบทุกเส้นทางภายในปี 2560 เพื่อการก่อสร้างจะได้ต่อเนื่องจากเส้นทางกำลังก่อสร้าง ได้แก่ สายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กม. มีความคืบหน้า 92.39% จะเปิดบริการในปี 2563 สายสีเขียวต่อขยาย (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 18.4 กม. คืบหน้า 30.60% จะเปิดบริการปี 2563 และสีเขียวต่อขยาย (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ระยะทาง 12.8 กม. เปิดบริการก่อน 1 สถานีถึงสำโรง จะเปิดใช้ตลอดเส้นทางปี 2561

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ