สนข.เร่งขนส่งสาธารณะในเมือง ผุดรถรางไฟฟ้ารางเบาเชื่อมหัวเมืองหลัก
สนข.เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ในเมืองหลักภูมิภาคผุดรถรางไฟฟ้า (แทรม) และรถไฟฟ้าขนาดเบาเชื่อมโยงคาดลงทุนระดับหมื่นล้าน ขอนแก่นนำร่องภาครัฐ-เอกชนมีความพร้อมร่วมลงทุน แต่ยังมีลุ้นภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี สงขลา
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า อยู่ระหว่างการเร่งสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลักภูมิภาคในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี พิษณุโลก สงขลา (หาดใหญ่) โดยจังหวัดภูเก็ตจะใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบาเส้นทางท่าอากาศยานภูเก็ตห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 41 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี รูปแบบการร่วมลงทุนเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบดำเนินการขั้นตอนการลงทุนก่อสร้าง และรฟม.ศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพิจารณาเห็นชอบเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการ
เส้นทางในจังหวัดขอนแก่น กำหนดไว้ 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 122 กิโลเมตร จำนวนทั้งสิ้น 93 สถานี โดยจะก่อสร้างเส้นทางสำราญ-ท่าพระ เป็นเส้นทางนำร่อง ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี ส่วนจังหวัดเชียงใหม่มีแผนแม่บทการพัฒนารองรับไว้แล้วใน 3 เส้นทางซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเป็นครั้งสุดท้ายเนื่องจากบางเส้นทางประชาชนต้องการให้จัดทำเป็นอุโมงค์เนื่องจากหวั่นว่าจะกระทบโครงสร้างของเมืองแต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งอาจจะกระทบต่อการใช้งบประมาณของรัฐและอาจไม่ได้รับความสนใจด้านการร่วมลงทุนของภาคเอกชนซึ่งสนข.อยู่ระหว่างการเร่งสรุปรายละเอียดดังกล่าว
ส่วนพื้นที่จังหวัดนคร ราชสีมา กำหนดไว้จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 54.87 กิโลเมตร จำนวน 64 สถานี ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยเฉพาะความสนใจของภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ เช่นเดียวกับจังหวัดสงขลา(หาดใหญ่) ได้มีการศึกษาระยะทางรวม 12.54 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี คาดว่าจะใช้งบก่อสร้างกว่า 8,400 ล้านบาท ขณะนี้การออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน
"โดยนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญเรื่องที่รัฐต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลัก ดังนั้นในเบื้องต้นได้เลือก ภูเก็ต เชียงใหม่ ที่ปัจจุบันได้ตั้งบริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมดำเนินการรองรับไว้แล้ว ส่วนขอนแก่นจะเร่งสรุปผลการศึกษาเดือนสิงหาคมนี้ เช่นเดียวกับจังหวัดนครราชสีมาที่ได้งบปีนี้ไปดำเนินการ ขณะนี้ผลการศึกษาคืบหน้า 15% ส่วนจังหวัดอุดรธานีได้ยื่นของบปี 2561 ไปดำเนินการ และพิษณุโลกที่มีเส้นทางรถไฟรองรับไว้แล้ว ก็จะเร่งเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กำหนดเป็นแผนแม่บทต่อไป"
นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่ายังได้เน้นให้สามารถเชื่อมโหนดการพัฒนาพื้นที่สำคัญไว้ได้ทั้งหมด ในส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มี 3 สายคือสาย สีแดง เขียว น้ำเงิน ระยะทาง 35 กม. ช่วงต้นเดือนหน้าจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนที่เชียงใหม่ก่อนเสนอครม.
"สำหรับจังหวัดขอนแก่น จะใช้เป็นโมเดลในการพัฒนารูปแบบในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง โดยจะพัฒนาสายสีแดงนำร่อง แต่สนข.ให้ทุกจังหวัดกลับไปทบทวนด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ประการหนึ่งนั้นหากให้ รฟม.ดำเนินการน่าจะสามารถดำเนินการได้ดีกว่าที่ท้องถิ่นจะนำไปดำเนินการเองและยังให้คิดถึงความยั่งยืนในอนาคตด้วย"
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ