เปิดโลก 'พร็อพเทค' หนุนอสังหาไทยสู่ยุคดิจิทัล
Loading

เปิดโลก 'พร็อพเทค' หนุนอสังหาไทยสู่ยุคดิจิทัล

วันที่ : 19 กรกฎาคม 2560
เปิดโลก 'พร็อพเทค' หนุนอสังหาไทยสู่ยุคดิจิทัล

จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การพัฒนาธุรกิจเกิดใหม่บนพื้นฐานเทคโนโลยี (สตาร์ทอัพ) กำลังมาแรง หากธุรกิจรูปแบบเดิมรู้จักใช้เทคโนโลยีของสตาร์ทอัพให้เป็นประโยชน์ หรือกระโดดร่วมวงพัฒนาเทคโนโลยีกับสตาร์ทอัพจะทำให้ธุรกิจที่มีอยู่แข็งแกร่งขึ้น ดังเช่นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมบริหารกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก ซึ่งลงทุนในสตาร์ทอัพ กล่าวว่า เปิดกองทุนนี้เมื่อ 2 ปีก่อน หนึ่งในกลุ่มที่มองว่าพัฒนาสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นระดับยูนิคอร์นได้ คือเทคโนโลยีภาคอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเทค) คุณสมบัติพร็อพเทคที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นยูนิคอร์นคือ ต้องทำเรื่องวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า อะนาลิติก) เพราะต่อไปพร็อพเทคต้องเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) และเทคโนโลยีด้านอื่น ดังนั้นผู้ที่จะมาทำพร็อพเทคให้สำเร็จควรรวมตัวระหว่างผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี ไม่ใช่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีอย่างเดียว ตัวอย่างที่ดีคือ บาเนีย ที่ 500 ตุ๊กตุ๊กเพิ่งไปลงทุน เพราะทำแพลตฟอร์มด้านบิ๊กดาต้า

อดิเรก แสงใสแก้ว ผู้ก่อตั้งบริษัท กรุงเทพพัฒนาเมือง และกรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า จำนวนพร็อพเทคของไทยยังน้อยเพราะระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยทำพร็อพเทคในไทยยังห่างไกลของโลกมาก แต่ล่าสุดสมาคมอสังหาริมทรัพย์พร้อมหน่วยงานรวม 21 หน่วยงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นด้านเทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์และเมือง (พร็อพเทค และเออเบิร์นเทค) น่าจะช่วยพร็อพเทคไทยเกิดได้

สำหรับพร็อพเทคที่เกิดขึ้นในธุรกิจมีมากมาย และกลายเป็นสตาร์ทอัพที่มาแรงในกลุ่มสตาร์ทอัพด้วยกัน ที่เปิดตัวไปล่าสุด เช่น บาเนีย โดย อัญชนา วัลลิภากร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) ผู้ร่วมก่อตั้ง "บาเนีย" ผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสและดาต้าอสังหาริมทรัพย์ผ่านระบบออนไลน์ กล่าวว่า หวังเป็นแหล่งรวมข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ตอบโจทย์คนหาที่อยู่อาศัย ซื้อขาย ให้เช่า โดยมีข้อมูลเจาะลึกให้ทั้งคนซื้อบ้านและผู้ประกอบการที่กำลังตัดสินใจลงทุน ซึ่งข้อมูลลงลึกระดับย่าน

ขณะเดียวกันถึงเทคโนโลยีเสมือนจริงได้เข้ามามีบทบาทในการซื้อบ้านมากยิ่งขึ้น เพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลูโอเชี่ยน เทคโนโลยี ผู้ให้บริการ "วีอาร์ เรียล.เอสเตท" กล่าวว่า ได้นำเทคโนโลยีความจริงเสมือน (วีอาร์) มาใช้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อขายบ้านและคอนโดมิเนียม เพราะที่ผ่านมาผู้ซื้อมีปัญหาเวลาไปเลือกซื้อที่อยู่อาศัยตามงานขายหรือดูจากโบรชัวร์ก็เห็นภาพมุมเดียว ถ้าซื้อบ้านราคาสูงจะไม่ตัดสินใจทันที ต้องรอสร้างเสร็จก่อน

วีอาร์ เรียล.เอสเตท จึงมาเติมเต็มความต้องการนี้ โดยไม่ได้เสนอแค่ภาพ 360 องศา แต่นำเทคโนโลยีสามมิติมาประกอบ ทำให้ผู้ที่ใส่อุปกรณ์วีอาร์เห็นภาพอสังหาริมทรัพย์ง่ายขึ้น สัมผัสได้กับจุดขายที่ ผู้ประกอบการต้องการเสนอ เช่น เห็นวิวเหมือนยืนในห้องพักบนอาคารสูงจริง เห็นความสูงของเพดานเหมือนจริง ใช้มือเปิด-ปิดไฟ เลือกสีผนัง แบบพื้นได้ในโลกเสมือนพร้อมเห็นการตกแต่งตามที่เลือก

ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอวีอาร์ เรียล.เอสเตท ให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ 10 รายใหญ่ เพราะ ผู้ประกอบการต้องการเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว คาดว่าจะเปิดตัววีอาร์ เรียล.เอสเตท กับตลาดเป็นทางการไตรมาส 4 ตั้งเป้า 3 ปีเป็นอันดับ 1 ในไทยด้านวีอาร์เพื่ออสังหาริมทรัพย์

ด้าน วีรยุทธ งานดี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เฮกซะ โคด้า ซึ่งทำ "เนเบอร์" กล่าวว่า เนเบอร์คือระบบบริหารจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับนิติบุคคลกับลูกบ้าน ใช้แจ้งข่าวสาร ส่งใบแจ้งหนี้ ส่งเรื่องแจ้งซ่อม ถ้าเป็นใบแจ้งหนี้จะเห็นเฉพาะลูกบ้านรายนั้น ส่วนข่าวสารก็ส่งถึงลูกบ้านพร้อมกันทุกคน ด้านการแจ้งซ่อมเห็นเฉพาะตัวบุคคล นิติบุคคลเปลี่ยนสถานะการดำเนินการให้ลูกบ้านทราบได้ ปัจจุบันมี 20 โครงการใช้ในเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี อนาคตจะขยายไปนครราชสีมา และขอนแก่น

ประโยชน์ที่นิติบุคคลได้คือลดต้นทุนและเวลาที่เสียกับการติดต่อลูกบ้าน บริหารจัดการมีประสิทธิภาพขึ้น ตัดปัญหาจากการสื่อสารแบบตั้งกลุ่มไลน์ที่อาจมีข้อความไม่เกี่ยวข้องปะปนทำให้ไม่เห็นข่าวสารที่จะเสนอ ส่วนลูกบ้านทราบความเคลื่อนไหวที่จำเป็นทันที ติดตามการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เริ่มมีพร็อพเทคมากขึ้น เพราะจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยเติบโตไปได้อีกไกล

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ