รฟม.ยันรถไฟฟ้าสีชมพู-เหลือง ลงเสาเข็มก่อสร้างพร้อมกันปลายปีนี้
บอร์ด “รฟม.” ไฟเขียวผลคัดเลือกที่ปรึกษารถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนสายสีชมพูรอลุ้นยื่นข้อเสนอ 15 ส.ค.นี้ ยันแม้ที่ปรึกษายังไม่มี แต่ไม่กระทบแผนก่อสร้าง มั่นใจเริ่มลงเสาเข็มก่อสร้างพร้อมกัน 2 สายทางปลายปี 60
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่า (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 45,797 ล้านบาท โดยบริษัท Asian Engineering Consultants Co., Ltd. ประกอบด้วย 1.Asian Engineering Consultants Co., Ltd. 2.MAA Consultants Co., Ltd. 3.Wisit Engineering Consultants Co., Ltd. 4.Chotichinda Consultants Ltd. 5.IT International Co., Ltd. 6.PB Asia Ltd.) เป็นผู้รับงาน วงเงิน 1,501 ล้านบาท
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 46,643 ล้านบาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษา เนื่องจากการประกาศเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอครั้งที่ 1 คือ วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 มีบริษัทที่ปรึกษามายื่นข้อเสนอเพียง 1 กลุ่ม คือ บริษัท Team Consulting Engineering and Management Co., Ltd. จึงต้องเปิดการคัดเลือกเป็นครั้งที่ 2 โดย รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนให้ที่ปรึกษาที่สนใจมารับเอกสารเพื่อรับการคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 18 กรกฎาคม 2560 ปรากฏว่ามีบริษัทที่ปรึกษาสนใจขอรับเอกสาร 34 ราย ซึ่ง รฟม.กำหนดยื่นข้อเสนอ 15 สิงหาคมนี้ และสามารถลงนามในสัญญาจ้างได้เดือนกันยายน 2560
“แม้การคัดเลือกที่ปรึกษาสายสีชมพูจะล่าช้าออกไป แต่ยังไม่กระทบกับงานก่อสร้าง ตอนนี้เราได้บริษัทที่ปรึกษาสายสีเหลืองแล้วก็จริง แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มงาน เพราะต้องรอสายสีชมพูก่อน คาดว่าเดือนหน้าจะเสนอผลคัดเลือกต่อบอร์ดได้ และยืนยันว่างานก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางนี้จะเริ่มได้พร้อมกันแน่นอนช่วงปลายปี 2560” นายภคพงศ์ กล่าว
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า รฟม.ยังได้รายงานให้บอร์ดรับทราบความคืบหน้าการศึกษาการให้บริการรถโดยสารเพื่อนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน (Feeder) ซึ่งเริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระยะเวลาศึกษา 90 วัน และได้ผลการศึกษาเบื้องต้นว่า รฟม.ควรให้บริการรถ Feeder ใน 3 เส้นทาง คือ 1.สถานีบางพลู (สถานีบางพลู-ถนนรัตนาธิเบศร์-ถนนบางกรวย ไทรน้อย-วัดเล่งเน่ยยี่ 2 (กลับรถ)-ถนนบางกรวย ไทรน้อย-ถนนรัตนาธิเบศร์-สถานีบางพลู-กลับรถแยกถนนกาญจนาภิเษก)
2.สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ (สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ –ถนนรัตนาธิเบศร์-ถนนท่าอิฐ ไทรม้า-ถนนท่าอิฐ หมู่ 5-ถนนราชพฤกษ์-ถนนรัตนาธิเบศร์-สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ) 3.สถานีสะพานพระนั่งเกล้า (สถานีสะพานพระนั่งเกล้า-ถนนรัตนาธิเบศร์ (กลับรถ)-ถนนนนทบุรี-กระทรวงพาณิชย์-ถนนนนทบุรี-สำนักงานสลากกินแบ่ง (กลับรถ)-ถนนนนทบุรีกระทรวงพาณิชย์-ถนนนนทบุรี-ถนนรัตนาธิเบศร์-สถานีสะพานพระนั่งเกล้า)
ทั้งนี้จากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าการให้บริการดังกล่าวจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 15-20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30,000 คนต่อวัน โดย รฟม.จะสรุปผลศึกษาอย่างเป็นทางการกลางเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนเจรจากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพื่อนำรถชัตเตอร์บัสมาให้บริการ เก็บค่าโดยสารอัตราต่ำ คาดว่าจะเริ่มบริการต้นปี 2561
นอกจากนี้ รฟม.ยังได้รายงานให้บอร์ดรับทราบความคืบหน้าการเปิดบริการเดินรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 1 สถานี เตาปูน-บางซื่อ ซึ่งจะเริ่มเดินรถ 10 สิงหาคมนี้ ขณะที่ล่าสุดบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ ซึ่งเป็นไปตามแผนด้วยดี
นายภัคพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ด ยังได้เห็นชอบตามที่ รฟม.เสนอการคิดอัตราค่าเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานทางโยธา รวมสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ช่วง 1 สถานี คือ แบริ่ง-สำโรง ซึ่งเริ่มเดินรถตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในอัตรา 8.5 ล้านบาทต่อเดือน มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 โดยหากคิดอัตราค่าเช่าจนสิ้นสุดสัญญาในปี 2572 ปีสุดท้ายค่าเช่าจะอยู่ที่ 3,260,000 บาทต่อเดือน
“อัตรานี้เป็นการคิดค่าก่อสร้าง รวมเงินกู้และดอกเบี้ยที่ รฟม.รับภาระอยู่ โดยค่าเช่าจะเป็นเหมือนตัวเลขทางบัญชี หากตกลงเรื่องการโอนทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้แล้วกทม.ตกลงรับภาระหนี้ทั้งหมดและค่าใช้จ่ายย้อนหลังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ตัวเลขเหล่านี้ก็จะหายไป แต่หาก กทม.ไม่รับภาระย้อนหลังถึงพฤษภาคม 2560 รฟม.ก็ต้องคิดค่าเช่าเหล่านี้ตามจริงจนถึงวันโอนโครงการ” นายภัคพงศ์ กล่าว