รฟม.ต่อโปรฯลดค่าโดยสารสายสีม่วง เปิดเชื่อมบางซื่อ10ส.ค.-ฟีดเดอร์3สาย
บอร์ด รฟม.สั่งคงลดค่าโดยสารสายสีม่วง 50% ต่อ ดีเดย์ 10 ส.ค. เปิดเชื่อม 1 สถานี หวังดึงผู้โดยสาร ใช้เพิ่มอีก 15% พร้อมยกเลิก Shuttle Bus ขสมก. และรถไฟ เล็งเปิด 3 เส้นทาง ฟีดเดอร์วิ่งวงกลม เชื่อมหมู่บ้านและศูนย์ราชการกับสถานีสีม่วง เพื่อความสะดวก และตั้ง กก.มาตรา 43 คุมสัมปทาน "ชมพู- เหลือง"
นายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ รอง ผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีพลเอกยอดยุทธ บุญญา ธิการ เป็นประธานเมื่อวันที่ 17 ก.ค. มีมติเห็นชอบยุติบริการเดินรถเมล์Shuttle Bus ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ และรถไฟเชื่อมต่อระหว่างสถานีบางซ่อนสถานีบางซื่อ-สถานีบางซ่อน ยุติในวัน 4 ส.ค. เนื่องจากจะมีการเปิดเดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-บางซื่อ จุดเชื่อมต่อ 1 สถานี ระยะทาง 1.2 กม.ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดย 1 สถานีดังกล่าวจะลดเวลาเดินทาง ในการเชื่อมสีม่วง กับสีน้ำเงินจากเดิมลง 20-30 นาที และไม่ต้องซื้อตั๋วใหม่
ทั้งนี้ บอร์ด ยังให้คงการให้ส่วนลด 50% อัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม(สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน -บางซื่อ ซึ่งปัจจุบัน จัดเก็บลดลงจาก 14-42 บาทเหลือ 14 -29 บาทและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เหลือ 15 บาทตลอดสาย ต่อไปก่อน โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้งหลังปีใหม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะระบุว่า เมื่อเชื่อม1สถานีแล้วจะเก็บค่าโดยสารอัตราปกติก็ตาม เนื่อง จากเห็นว่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ดีได้ ซึ่งประเมินว่าการคงส่วนลดต่อไปจะทำให้ผู้โดยสารสายสีม่วงเพิ่มขึ้นอีก 15% จากปัจจุบันที่มีเฉลี่ย 3 หมื่นคน/วัน
นอกจากนี้ รฟม.ได้ว่าจ้าง มหาวิทยาลัย นเรศวร ศึกษาระบบฟีดเดอร์ เพื่อเป็นอีกแนวทางที่จะเพิ่มผู้โดยสารสายสีม่วง โดยเบื้องต้นเห็นว่า รฟม.ควรจัดรถวิ่งวน เป็นวงกลม ใน 3 เส้นทาง เพื่อรับคนจากชุมชน หมู่บ้านและสถานที่ราชการเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าได้สะดวกมากขึ้น ได้แก่ 1. สถานีบางพลู (บางพลู-รัตนาธิเบศร์ถ.บางกรวย-ไทรน้อย-วัดเล่งเน่ยยี่ 2(กลับรถ)วนกลับเส้นทางเดิม 2. สถานีบางรักน้อย- ท่าอิฐ (ถ.บางรักน้อย-ท่าอิฐ-รัตนาธิเบศร์ท่าอิฐ-ไทรม้า-ราชพฤกษ์ -บางรักน้อย-ท่าอิฐ) 3.สถานีสะพานพระนั่งเกล้า-นนทบุรี(ผ่านกระทรวงพาณิชย์-ศูนย์ราชการ) โดยจะสรุปผลศึกษาใน 90 วัน(19 พ.ค.-19 ส.ค.) ค่าโดยสารจะพิจารณาต่อไป โดยหลักถือเป็นบริการอำนวยความสะดวก ไม่หวังกำไร รฟม.จะตั้งงบประมาณปี 61 คาดว่าจะช่วยเพิ่มเปลี่ยนพฤติกรรมใช้รถไฟฟ้าแทนรถยนต์ส่วนตัว และเพิ่ม ผู้โดยสารสีม่วงอีก 15-20%
"รูปแบบจะเหมือนบีทีเอสช่วง แรกๆที่มีบริการรถวิ่งวนเพื่ออำนวยความสะดวก เมื่อประชาชนปรับพฤติกรรมได้แล้ว ค่อยยกเลิก"
คิดค่าเช่าสีเขียว "แบริ่ง-สำโรง" จาก กทม. 8.5 ล./เดือน
นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นชอบอัตราค่าเช่าโครงสร้างพื้นฐานโยธา ทางวิ่งและสถานี ในการเดินรถ 1 สถานี ของสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สำโรง ในปีแรก ที่ 8.5 ล้านบาท/ เดือน ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิด เดินรถไปตั้งแต่ พ.ค.60 โดยคำนวณจากค่าก่อสร้าง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะทยอย ลดลงไปจนถึงปี 72 ที่หมดภาระดอกเบี้ย ค่าเช่าจะเหลือ 3.26 ล้านบาท/เดือน โดยจะ เสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เนื่องจากเป็นการให้สิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯมาตรา 75(6)
และบอร์ดมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ในการกำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแครายมีนบุรี 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 51,931.15 ล้าน บาท ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชน ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยมีผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน มีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และมีผู้ช่วยผู้ว่าฯรฟม. เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินสัมปทาน ทั้ง 2 สายให้เป็นไปตาม กม.ร่วมทุน