11ส.ค.เปิดเตาปูน-บางซื่อ'ลา'ชัตเติ้ลบัส-รถไฟเชื่อม
Loading

11ส.ค.เปิดเตาปูน-บางซื่อ'ลา'ชัตเติ้ลบัส-รถไฟเชื่อม

วันที่ : 19 กรกฎาคม 2560
11ส.ค.เปิดเตาปูน-บางซื่อ'ลา'ชัตเติ้ลบัส-รถไฟเชื่อม

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่ประชุมเห็นชอบการกำหนดค่าเช่าสถานีรถไฟฟ้าสายสีแขียวใต้ช่วงแบริ่งสมุทรปราการ ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดให้ประชาชนใช้ระบบ 1 สถานี ตั้งแต่สถานีแบริ่ง-สถานีสำโรง ระยะทาง 1 กม. โดยคำนวณจากภาระเงินกู้และดอกเบี้ย 8.5 ล้านบาท/เดือน นับจากเดือน พ.ค. 60 ที่เปิดใช้งาน จากนั้นค่าเช่าแต่ละเดือนจะทยอยลดลงจนถึงปี 72 อยู่ที่ 3.2 ล้านบาท/เดือน เป็นค่าเช่าโครงสร้างพื้นฐานงานโยธาตั้งแต่ค่าเช่ารางรถไฟฟ้าตั้งแต่แบริ่ง-สำโรง รวมถึงตัวสถานีสำโรงด้วย ถ้า กทม. รับภาระหนี้เงินกู้ทั้งหมดเงินค่าเช่าส่วนนี้ก็ไม่ต้องจ่ายซึ่ง รฟม. จะเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม. เห็นชอบต่อไป

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า บอร์ดยังเห็นชอบให้ยกเลิกการให้บริการรถชัตเติ้ลบัสรับส่งผู้โดยสารระหว่างสถานีเตาปูน-บางซื่อ ทั้งรถเมล์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) เนื่องจากวันที่ 11 ส.ค. รฟม. จะเปิดเดินรถไฟฟ้าเชื่อมต่อสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงและสถานีเตาปูน ของรถไฟฟ้า

สายสีม่วงช่วงบางใหญ่- เตาปูนแล้ว โดยวันที่ 4 ส.ค. จะยกเลิกรถไฟจากสถานีบางซื่อ-สถานีบางซ่อน และวันที่ 11 ส.ค. จะยกเลิกรถเมล์จากสถานีเตาปูนสถานีบางซื่อ ส่วนค่าโดยสารหลังเชื่อม 2 ระบบให้คงส่วนลดเหมือนเดิม 14-42 บาท หากใช้บัตรรถไฟฟ้าจะลดเหลือ 14-29 บาท เพราะหากเปลี่ยนแปลงทันทีประชาชนจะสับสน

นอกจากนี้บอร์ดยังเห็นชอบให้ รฟม. จัดรถชัตเติ้ลบัสรับส่งประชาชนในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.สถานีบางพลู ไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย วัดเล่งเน่ยยี่ กลับรถกลับเส้นทางเดิม 2.สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ ไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนท่าอิฐ-ไทรม้า ถนนท่าอิฐ-หมู่ 5 ถนนราชพฤกษ์ วกกลับเข้าถนนรัตนาธิเบศร์ เส้นทางเดิม และ3.สถานีสะพานพระนั่งเกล้า ไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ กลับรถถนนนนทบุรี ผ่านกระทรวงพาณิชย์ ถนนนนทบุรี 1 สำนักงานสลากกินแบ่ง กลับรถวิ่งกลับเส้นทางเดิม เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าบริเวณดังกล่าวมีหมู่บ้านจำนวนมากหากจัดรถชัตเติ้ลบัสรวมถึงเปิดเชื่อม 1 สถานี จะเพิ่มผู้โดยสารใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงมากขึ้น 50-60% จากปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 30,000 คน โดย รฟม. จะว่าจ้าง ขสมก. จัดรถเมล์บริการประชาชน เก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนให้ได้ข้อสรุปภายในต้นปี 61

นายภคพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า บอร์ดยังอนุมัติจ้างบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ (AEC) เป็นที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองวงเงิน 1,501,900,000 บาท เป็นผู้แทน รฟม. ในการประสานงาน ตรวจสอบเร่งรัดการก่อสร้างสายสีเหลืองทั้งหมด ส่วนสายสีชมพูช่วงมีนบุรี-แครายอยู่ระหว่างหาที่ปรึกษา จะเริ่มก่อสร้างทั้ง 2 สาย ภายในสิ้นปีนี้.

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ